คณะกรรมการกำกับและดูแลกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานสะอาด จึงจัดทำโครงการ “Clean Energy For Life ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” เพื่อบูรณาการให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และปลูกฝังทัศนคติที่ดี เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างรูปธรรมมากยิ่งๆ ขึ้น ภายใต้การสื่อสาร 3 เเกน คือ Solar Power, Waste to Energy เเละ Bio Energy
ภายใต้แนวคิด “Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ยังได้เกิดเป็นโครงการ “Waste to Energy การเดินทางของขยะ ที่ทุกคนต้องรู้” ที่ได้ 3 อินฟลูเอนเซอร์ที่มีใจรักในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่าง “รัศมี แข ฟ้าเกื้อล้น” “สิงห์- วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” และ “โตโน่-ภาคิณ คำวิลัยศักดิ์” ร่วมเป็นตัวแทนสื่อสารวงจรของขยะ โดยการลงมือสำรวจการเดินทางของขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง จนกระทั่งเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสะอาด สร้างเป็นสารคดีสั้น 3 ตอน
เริ่มจากตอนที่ 1 “จุดเริ่มต้นของขยะคือ ที่บ้าน” โดย รัศมี แข หนุ่มไทยที่โตในสวีเดน ผู้ได้รับการฝึกให้แยกขยะตั้งแต่เด็ก มานำเสนอเรื่องราวการใช้ชีวิตหนึ่งวันว่ามีขยะใกล้ตัวประเภทใดบ้าง และวิธีจัดการแยกขยะที่ถูกต้องต้องทำอย่างไร เพื่อแสดงให้เห็นถึงจำนวนขยะที่ถูกสร้างขึ้นในชีวิตประจำวันจากคนเมืองแบบตน รับชมผ่าน อินสตาแกรม และ เฟสบุ๊คเพจ Rusameekae
หลังจากนั้น จะส่งไม้ต่อให้นักเคลื่อนไหวทางความคิด ขวัญใจคนรุ่นใหม่ สิงห์ วรรณสิงห์ ที่จะนำเสนอเรื่องราวการเดินทางของขยะไปยังโรงงานไฟฟ้าในตอนที่ 2 “รถขยะ กองขยะของเมือง” และพาผู้ชมไปลงพื้นที่ทิ้งขยะมูลฝอยชุมชน เพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์และประเภทของกองขยะในประเทศไทย รับชมผ่าน เพจเฟสบุ๊ค Wannasingh หรือ ช่องยูทูป เถื่อนChannel
ส่วนตอนสุดท้าย “ปลายทางของขยะ” นำเสนอโดยศิลปินผู้มีหัวใจรักษ์โลก โตโน่ ภาคิณ รับหน้าที่ให้การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการดำเนินการหลังจากขยะเดินทางถึงโรงไฟฟ้าแล้ว เพื่อสื่อสารให้ประชาชนเห็นว่า หากขยะถูกแยกมาอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ขยะก็คือทรัพยากรที่มีค่าสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และรวมถึงเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้ รับชมผ่าน อินสตาแกรม Mootono29
การหมุนเวียน “ขยะ” กลับมาใช้ใหม่ สร้างให้เกิดประโยชน์ด้วยการแปรเป็น “พลังงานสะอาด” เป็นการตอกยํ้าให้เห็นคุณค่าของ “ขยะ” และมอง “ขยะ” ให้เป็น “ทรัพยากร” หากทุกคนสามารถเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ได้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ ให้เกิดการใช้ทรัพยากรสูงสุด อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 23 ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564