SCG เร่งต่อยอด “นวัตกรรม” เสริมกำลังสถานพยาบาลรับมือโควิด -19

14 พ.ค. 2564 | 12:14 น.

เอสซีจี เร่งต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ระดมกำลังช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด -19 ปูพรม 9 นวัตกรรม รับมือโควิดระบาดระลอก 3

ต่อยอดนวัตกรรมที่มี ใช้เวลาเป็นเดิมพัน ทันเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เอสซีจี ได้พัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีอยู่ต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกแรก ที่พัฒนานวัตกรรมที่อาศัยความ “เร็ว” แข่งกับ “เวลา” ทีมงานเอสซีจียังได้ร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมแพทย์ เพื่อเข้าใจความต้องการตอบโจทย์การใช้งานได้จริง เน้นการคิดค้น ออกแบบ พัฒนา ผลิตภัณฑ์ โซลูชัน ใช้เทคโนโลยี มีประสิทธิภาพ ให้ทันต่อความต้องการตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงของการระบาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

SCG เร่งต่อยอด “นวัตกรรม” เสริมกำลังสถานพยาบาลรับมือโควิด -19

เมื่อนับจำนวนนวัตกรรมป้องโควิดถึงปัจจุบัน เอสซีจี สามารถคิดค้นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ เพิ่มความอุ่นใจให้กับทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถรับมือวิกฤติโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย  รวมถึงยังบรรเทาผลกระทบของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง ตลอดจนมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างดีที่สุด

9 นวัตกรรม รับมือโควิดระบาดระลอก 3 พร้อมส่งมอบทั่วประเทศ

จากการแพร่ระบาดระลอก 3 ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก รวมถึงการเตรียมความพร้อมหากห้องไอซียูไม่เพียงพอต้องการ เอสซีจีได้ต่อยอดและพัฒนา “9 นวัตกรรม” โดยส่งมอบให้แก่ 400  โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ  ได้แก่

SCG เร่งต่อยอด “นวัตกรรม” เสริมกำลังสถานพยาบาลรับมือโควิด -19

1.      นวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ (Modular ICU) สำหรับผู้ป่วยวิกฤตโควิด โดยต่อยอดร่วมกับคณะแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี ก่อสร้างได้รวดเร็วภายใน  1 สัปดาห์ ตามมาตรฐานห้อง ICU มีฟังก์ชันการใช้งานเพื่อพยุงชีพผู้ป่วยขั้นวิกฤต แยกระบบอากาศของทีมแพทย์และคนไข้ออกจากกันโดยเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ แยกผู้ป่วยวิกฤตโควิด ออกจากผู้ป่วยปกติ

2.      นวัตกรรมเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี (SCGP Paper Field Hospital Bed) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเตียงผู้ป่วย โดยผลิตจากกระดาษรีไซเคิล 100% ออกแบบตามหลักการศาสตร์ เพื่อรองรับการใช้งานของสรีระของคนเอเชีย น้ำหนักเบา ประหยัดพื้นที่ขนส่งและการจัดเก็บ ประกอบง่ายใน 8 นาที โดยไม่ต้องใช้กาว ใช้ได้นาน 3 เดือน หากไม่โดนน้ำ และรับน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัมในแนวราบ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ 62 องค์กรเปิดโครงการ “รวมใจสู้โควิด” เพื่อเปิดจุดรับกล่องกระดาษที่เหลือใช้นำกลับมารีไซเคิลเป็นเตียงสนามกระดาษ หมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่อย่างมีคุณค่า โดยส่งมอบให้โรงพยาบาลสนาม 27,600 เตียง 340 แห่ง

SCG เร่งต่อยอด “นวัตกรรม” เสริมกำลังสถานพยาบาลรับมือโควิด -19

3.      นวัตกรรมห้องน้ำสำเร็จรูป (Modular Bathroom) เน้นการผลิตแบบเบ็ดเสร็จพร้อมใช้งานด้วยโครงสร้างคอนกรีต ที่สามารถผลิต ขนส่งง่าย และติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว และยังออกแบบให้มีความทนทาน ปลอดภัย ทำความสะอาดดูแลฆ่าเชื้อได้ง่าย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ อีกทั้งยังมีการแยกการใช้งานออกเป็นห้องเดี่ยว ทำให้แยกการใช้งาน และทำความสะอาดได้อย่างอิสระแยกออกจากกัน  

4.      ห้องตรวจเชื้อความดันบวก (Positive Pressure SWAB Cabinet) เพื่อใช้ทำการคัดกรองและตรวจวินิจฉัยโรคประจำจุด ห้องตรวจได้มาตรฐานปลอดเชื้อ เคลื่อนย้ายโครงสร้างและติดตั้งได้ง่าย  

SCG เร่งต่อยอด “นวัตกรรม” เสริมกำลังสถานพยาบาลรับมือโควิด -19

5.      นวัตกรรมห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room) สำหรับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือเป็นห้องพักผู้ป่วย  

6.      นวัตกรรมแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Patient Isolation Capsule) ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย  

7.      นวัตกรรมแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ สำหรับเข้าเครื่อง CT scan (Small Patient Isolation Capsule for CT Scan)

8.      นวัตกรรมอุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อ สำหรับงานหัตถกรรม (Dent Guard) 

9.      ห้องตรวจเชื้อความดันลบเคลื่อนที่ (Negative Pressure SWAB Cabinet - Mobile) และห้องตรวจเชื้อความดันบวกเคลื่อนที่ (Positive Pressure SWAB Cabinet - Mobile)

นอกจากนี้ เอสซีจี ยังร่วมกับกรมการแพทย์ จัดเตรียม ศูนย์ฉีดวัคซีนเอกชน ในพื้นที่เอสซีจีบางซื่อ พร้อมพนักงานจิตอาสา บริการฉีดวัคซีนให้ประชาชน วันละ 2,000 คน  คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดือนมิถุนายนนี้  

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ระบุว่า เอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น แต่ในช่วงวิกฤตโควิด 19 บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักมากในการต่อสู้กับโรคระบาด ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำให้โจทย์ของเอสซีจีปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในทุกขั้นตอนการทำงาน เริ่มตั้งแต่การตรวจคัดกรองผู้ป่วย การตรวจหาเชื้อ อุปกรณ์การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การจัดเตรียมเตียงสนามกระดาษ จนถึงการพัฒนานวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ เพื่อดูแลผู้ป่วยวิกฤตโควิด19 โดยยึดหลักต้องทำได้ “เร็ว” เพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างทันท่วงที

สิ่งที่เอสซีจีมีคือ นวัตกรรม และเทคโนโลยี  ที่สำคัญความพร้อมของเรา คือ ทำได้เร็ว การได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญนอกเหนือจากที่เอสซีจีมี ทำให้เกิด Open Innovation  ที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่รวดเร็วขึ้น และตอบโจทย์สังคมได้มากยิ่งขึ้น

การที่ทีมงานได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิดระลอกแรก ประกอบกับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเข้าใจความต้องการและปัญหาที่ลูกค้าต้องการแก้ไขได้อย่างชัดเจน จึงทำให้สามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมได้ต่อเนื่อง ทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมขององค์กรในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย ขอเชิญชวนคนไทยร่วมใจกันลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แอปพลิเคชัน หรือ Line@ “หมอพร้อม” หรือลงทะเบียนจองสิทธิ์ได้ที่โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษาอยู่ ทั้งของรัฐและเอกชน หรือ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล (อสม.) รวมถึงศูนย์ฉีดวัคซีนเอกชน  เพื่อช่วยกันลดการแพร่ระบาด โอกาสในการติดเชื้อ และความรุนแรงของอาการ รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เช่น ช่วยกัน Work from Home ให้มากที่สุด สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ฯลฯ ก็จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง