ถูก คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ขีดเส้นให้ควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท จัดตั้ง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom: NT Co.) โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
การควบรวมครั้งนี้เป้าหมายของรัฐบาลเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน เพื่อรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้จะล่าช้าดีกว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะ ถ้าคืนปล่อยให้ต่างคนต่างทำทั้ง ทีโอที และ แคท สู้กลุ่มทุนสื่อสารทั้งในและต่างประเทศไม่ได้แน่นอน
แต่ทว่าการควบรวมครั้งนี้ทำให้จำนวนฐานผู้ใช้บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เป็น 1.67 ล้านราย แบ่งเป็นของ ทีโอที ภายใต้ชื่อแบรนด์ "TOT FIber2U" จำนวน 1.47 ล้านราย และ "C internet" ของ แคท จำนวน 2 แสนราย
หากพลิกดูจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ของกลุ่มสื่อสาร ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 ปรากฏว่า ทรู ออนไลน์ มีลูกค้า 3.7 ล้านราย ,3BB ของ กลุ่มจัสมิน อยู่ที่ 3.19 ล้านราย และ เอไอเอส ไฟเบอร์ จำนวน 1 ล้านราย
ส่วน "ทีโอที" ยังรั้งตำแหน่งเบอร์สามในธุรกิจบรอดแบนด์ และ ยิ่งรวมธุรกิจกับ "แคท" ในครั้งนี้ส่งผลให้ธุรกิจบรอดแบนด์แข็งแรงขึ้น เมื่อทั้งสองรวมธุรกิจมีสินทรัพย์ที่สำคัญ คือ โครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง 2.2 ล้านคอร์กิโลเมตร ,โครงข่ายเคเบิ้ลใต้นำ 8 ระบบ อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 1 ระบบ ท่อร้อยสายใต้ดิน อีก 37,850 ดักส์ต่อกิโลเมตร เป็นต้น
เมื่อทั้ง "ทีโอที" และ "แคท" นำเครือข่ายมารวมกันยิ่งทำให้มีศักยภาพเข้มแข้งขึ้นเพราะมีเครือข่ายไฟเบอร์ในประเทศ และ ต่างประเทศ เมื่อผนึกรวมกันแล้วทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถแข่งกับเอกชนได้อย่างแน่นอน
เชื่อว่าในปี 2563 การแข่งขัน บรอดแบรนด์ ร้อนแรงกว่าเดิมอย่างแน่อน ดังนั้นเมื่อ "ทีโอที และ แคท" ควบรวมธุรกิจแล้วต้องผนึกกำลังสู้กับเอกชน
ไม่เช่นนั้นแล้วตำแหน่งเบอร์สามที่รั้งไว้ คงถูก "เอไอเอส ไฟเบอร์" เบียดแซงก็เป็นได้
คอลัมน์ Move On
โดย คนท้ายซอย