จากกรณีที่ปัจจุบันการตรวจพบผู้ติดเชื้ออยู่ในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐ ความร่วมมือของประชาชนที่ร่วมกันเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) รวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และ อสม. ทั่วประเทศที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสมาโดยตลอด แต่มาตรการคลายล็อกดาวน์ที่ภาครัฐกำลังผ่อนปรนอาจเป็นตัวจุดชนวนการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในระลอกที่ 2 ได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ได้สนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล ยกระดับงานสาธารณสุขให้สามารถทำงานเชิงรุก ควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นเป็นงบประมาณกว่า 177 ล้านบาท พร้อมขยายเครือข่ายติดตั้งสัญญาณ 5G ในโรงพยาบาลที่รับตรวจ โควิด-19 แล้วกว่า 161 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และตั้งศูนย์เฉพาะกิจ AIS Robotic Labs พัฒนา Robot for Care หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ช่วยรักษาระยะห่างระหว่างหมอและคนไข้ ส่งมอบแล้ว 23 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 22 แห่ง
“แม้วันนี้สถานการณ์โรค โควิด-19 ของประเทศไทย จะผ่านจุดวิกฤติมาแล้วและรัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ ในทางกลับกันก็อาจเป็นการเพิ่มโอกาสความเสี่ยงที่จะเพิ่มปริมาณผู้ติดเชื้อในระลอก 2 ได้ ดังนั้นการเฝ้าระวัง ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ในชุมชนทั่วประเทศ จากการทำงานของกลุ่ม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ฉายา “นักรบเสื้อเทา” ที่มีอยู่กว่า 1 ล้าน 5 หมื่นราย จึงมีความสำคัญสูงสุด ในการสกัดกั้นการระบาดในระลอกที่2”
ขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบสาธารณสุขของไทยเป็นเครือข่ายการทำงานของหน่วยบริการสุขภาพ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านการรักษาพยาบาล ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลแอพพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกระหว่างหน่วยบริการสุขภาพและ อสม.
ทั้งนี้ปัจจุบันมี อสม.ดาวน์โหลดและใช้งานแอพนี้แล้วกว่า 4 แสน 1 หมื่นราย โดยล่าสุด เพื่อร่วมแบ่งเบาและเสริมขีดความสามารถของ อสม.ยุคดิจิทัล ในสถานการณ์ โควิด-19 เอไอเอส จึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลโซลูชันมาสนับสนุนการทำงานของ อสม. นักรบเสื้อเทาเพิ่มเติม ดังนี้
1) พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ “คัดกรองและติดตาม COVID-19” บนแอพ อสม. ออนไลน์
เพื่อให้ อสม.ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังความเสี่ยง คัดกรอง และติดตามผลกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในชุมชน ด้วยรูปแบบรายงานดิจิทัลที่ อสม. สามารถบันทึกได้ง่าย สะดวกและเรียลไทม์ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด สามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นๆ
2) มอบ “ซิมฮีโร่” เพื่อสมาชิก อสม. ให้ใช้งานแอพ อสม. ออนไลน์
สนับสนุน “ซิมฮีโร่” ให้แก่ อสม. ทั่วประเทศ มอบอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้งานบนแอพพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ ได้ฟรีไม่จำกัด ที่ความเร็ว 1 Mbps เล่นเน็ตไม่รั่ว ที่ความเร็ว 128 kbps โทรทุกเครือข่ายวินาทีละ 2 สตางค์ ทุกเครือข่าย ตลอด 24 ชั่วโมง นานสูงสุด 1 ปี
3) มอบฟรีประกันภัยให้ นักรบเสื้อเทา
มอบสิทธิ์ความคุ้มครองประกันภัยให้ อสม. ที่มีอายุระหว่าง 16 - 85 ปี ทั่วประเทศ ฟรี! โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี 50,000 บาท และรับความคุ้มครองชดเชยรายวัน 400 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 15 วัน เมื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในจากการติดเชื้อไวรัส โควิด-19 โดย อสม. ที่ใช้บริการเครือข่าย เอไอเอส หรือ อสม. ที่ัรับซิมฮีโร่ สามารถรับลิงก์ลงทะเบียนความคุ้มครองได้โดยกด *268*เลขบัตรประชาชน 13 หลัก# และกดเครื่องหมายโทรออก
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้น บุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นด่านหน้าสำคัญในการต่อสู้กับสงคราม โควิด-19 ซึ่งนอกเหนือจากหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องแล้ว กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสนับสนุนการทำงานเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุข นั่นคือ กลุ่ม อสม. ที่ทำงานด้วยหัวใจของความเป็นจิตอาสา เข้าถึงชุมชนในแต่ละพื้นที่ของตัวเองได้อย่างทั่วถึง วันนี้ประเทศไทยได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานอย่างหนักของทีม อสม. ทั่วประเทศ ร่วมทำงานเชิงรุกในการค้นหาและตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงไปจนถึงผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถติดตามตัวผู้ป่วยมารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที จนถึงขณะนี้เรียกได้ว่า ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติของการแพร่ระบาดไปได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสถานการณ์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เรายิ่งต้องทำงานอย่างหนักเพื่อเฝ้าระวังการ แพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้ ดังนั้น เหล่า อสม. จะยังเป็นกำลังหลักในการทำหน้าที่ตรวจสอบและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน ทั้งจากการเดินทางมาจากพื้นที่อื่น และมีประวัติสัมผัสเชื้อ โควิด-19 เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวังและสังเกตอาการให้เร็วที่สุด ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้อย่างทันท่วงที อสม. จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนร่วมด้วย