CAT ผนึกภาคี สร้างเคเบิลใต้น้ำระยะทาง 9,400 กิโลเมตร

16 ก.ค. 2563 | 05:49 น.

CAT ผนึกภาคีสมาชิก Asia Direct Cable สร้าง เคเบิลใต้น้ำ ระหว่างประเทศยาว 9,400 กม. รองรับผู้ให้บริการคอนเทนต์ใน Digital Park Thailand ล่าสุด NEC รับหน้าที่ก่อสร้างระบบ คาดแล้วเสร็จปี 2565

พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)  มูลค่าโครงการทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นงบเบิกจ่ายแทนกันของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส โดยแบ่งออกเป็น 3 โครงการดังนี้

สำหรับโครงการที่ 1 คือการเพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงชายแดนประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ไปยังสถานีเคเบิลใต้น้ำจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี สงขลาและสตูล รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 2300 Gbps  อยู่ระหว่างการทดสอบและติดตั้งอุปกรณ์ใน 151 สถานีทั่วประเทศ  ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562 โครงการดำเนินการเสร็จแล้วส่วนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นอยู่ในรูปแบบคอนเซอร์เตี้ยม ในแต่ละประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีอีทุ่ม 5 พันล. มอบสิทธิ์แคทเดินหน้าเคเบิลใต้น้ำ ดันไทยสู่ฮับดิจิทัลอาเซียน

 

โครงการที่ 2 คือ การขยายความจุระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีอยู่ไปยัง ฮ่องกง ,สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้วและส่งมอบความจุ งวดที่ 1 และงวดที่ 2 จำนวน 3 ระบบ คือ AAG, APG, FLAG โดยรวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 Gbps ซึ่ง CAT ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วสามารถรองรับปริมาณทราฟิกทั้งประเทศซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7,512 Gbps ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท

 สำหรับโครงการที่ 3 คือ การก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเคเบิลใต้น้ำ ASIA Direct Cable (ADC) ในฐานะที่ CAT เป็นหนึ่งในภาคีสมาชิก ADC ซึ่ง แคท ได้เป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกประกาศความร่วมมือที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างระบบ เคเบิลใต้น้ำ ระบบใหม่เชื่อมต่อกับประเทศจีน (เขตบริหารพิเศษฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้ง), ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทยและเวียดนาม โดยได้คัดเลือกบริษัท NEC Corporation ให้รับหน้าที่ก่อสร้างระบบเคเบิลADC ที่มีความยาว 9,400 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาทคาดแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565

“เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถทดสอบระบบรวมถึงส่งมอบสิทธิการใช้งานให้กระทรวงดีอีเอส ภายในปี 2564  โดยจะขยายไปทางตอนเหนือของไทย 9.6 เทราไบต์ และทางตอนใต้ 9.6 เทราไบต์ ซึ่งจะทำให้มีความจุเพิ่มขึ้นจาก 200 กิกะบิตต่อวินาที เป็น 9 เทเรบิตต่อวินาที” พันเอกสรรพชัย กล่าว

 

 

CAT ผนึกภาคี สร้างเคเบิลใต้น้ำระยะทาง 9,400 กิโลเมตร