ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาดีป้าได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคสังคม ชุมชน และท้องถิ่นทั่วประเทศ ผ่านการเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้ประกอบการด้านดิจิทัล (Digital Provider) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานฯ โดยในปี 2563 ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในชนบทประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจำนวน 193 ชุมชน
ทั้งนี้ ล่าสุดที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ครั้งที่ 7/2563 มีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือ หรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชนบท (depa Digital Transformation Funds for Community) ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รวม 9 โครงการ ประกอบด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ดีป้า” จับมือสถาบันการศึกษา อัพสกิลคนพันธุ์ดิจิทัล
ดีป้า” หนุนใช้ เทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับ SMEs ระยอง
“ดีป้า” อัดงบ 10 ล้าน หนุนสตาร์ตอัพ EdTech
“ดีป้า”บุกตราดติดอาวุธดิจิทัลท่องเที่ยว-บริการ
1.โครงการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตรในรูปแบบโรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจบ้านป่าเปา จ.เชียงใหม่
2.โครงการระบบให้น้ำอัจฉริยะและพลังงานทดแทนเพื่อโรงเรือนเพาะเห็ด โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเห็ดปลอดสาร ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
3.โครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะด้วย IoT สำหรับไร่มะนาว โดยวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด อ.สองแคว จ.น่าน
4.โครงการโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์วิสาหกิจเกษตรธรรชาติลีซู โดยวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
5.โครงการโดรนเพื่อการเกษตรสมาร์ทฟาร์มแม่วาง โดยวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวโพดหวานสมาร์ทฟาร์ม อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
6.โครงการโดรนเพื่อการเกษตรเกษตรกรฝาง โดยวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวโพดหวานสมาร์ทฟาร์ม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
7.โครงการแอปพลิเคชันส่งเสริมการปลูก การเกษตรที่มีมาตรฐานในยุคดิจิทัล โดยวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยจากสารพิษบ้านไผ่งาม อ.เวียงสา จ.น่าน
8.โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการการปลูกและตลาดเกษตรกร เพื่อการเกษตรในยุคดิจิทัลโดยวิสาหกิจชุมชนพืชผักและผลไม้อบแห้งบ้านแหน 2 อ.ท่าวังผา จ.น่าน
9.โครงการระบบบริหารจัดการไข่ไก่เพื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตเกษตรกรบ้านนาหึก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
“ดีป้า มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งชุมชนจะเป็นผู้เลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองจากรายการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน หรือได้รับการรับรองโดยสำนักงานฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ตรวจสอบ และวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสมก่อนนำไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
พร้อมกันนี้มีการประเมินว่า โครงการขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชนบทที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในครั้งนี้จะช่วยให้ชุมชนต่าง ๆ เพิ่มขีดความสามารถด้วยการบริหารจัดการกระบวนการผลิต ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน อีกทั้งส่งผลให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจราว 2 ล้านบาท