นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Future of Digital Economy and Society” ในงาน “Go Digital with ETDA” ว่า ประเทศไทยและทั่วโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลไปอย่างรวดเร็ว คนไทยพร้อมใช้ดิจิทัล ภาครัฐก็ต้อองพร้อมให้บริการ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำจากวันนี้คือ การพัฒนากฎหมายไปข้างหน้า วิเคราะห์ว่าจะเกิดขึ้นอะไรในอนาคต เพื่อปกป้องดูแลผลประโยชน์ของคนไทย ซึ่ง ETDA เป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนากฎหมายและมาตรฐานของบริการดิจิทัลต่าง ๆ ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต
นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องมี Thailand Single Platform เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในลักษณะแบบเป็นศูนย์กลางที่เข้าถึงง่าย โดยนำระบบดิจิทัลมาใช้พัฒนา เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทำได้เร็วขึ้น
อีกเรื่องคือ การพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลไอดี ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมบริการออนไลน์ให้มีความน่าเชื่อถือ ผ่านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยไม่ต้องเดินทางและเสียเวลาการลงทะเบียนใหม่ซ้ำ ๆ กัน ซึ่งกระทรวงฯ กำลังจะประสานให้ทุกหน่วยมาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับบริการประชาชน รวมทั้งการป้องกันระวังภัยคุกคามทางออนไลน์ (Online Fraud Prevention) ที่ต้องยกระดับการเฝ้าระวังป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ให้กับหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้าน นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ETDA มีเป้าหมายสำคัญคือ “Go Digital with ETDA” หรือการเป็นองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก ภายใต้บทบาทหน้าที่หลักคือ การส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการ และสุดท้ายคือ การกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล สร้างความน่าเชื่อถือ รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ด้วยงานสำคัญทั้งการกำกับดูแลธุรกิจบริการด้านดิจิทัล พัฒนามาตรฐานและกฎหมายด้านดิจิทัล การพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลไอดี การป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์ และการพัฒนาความพร้อมของคนดิจิทัล
นโยบายและแผนการดำเนินงานก้าวต่อในปี 2564 ETDA จะเดินหน้าดำเนินงานผ่าน 3 โครงการที่จะยกระดับการขับเคลื่อนจากปี 2563 ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ได้แก่
1. การนำการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของของประเทศผ่านแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน พร้อมผลักดันแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมฯ ให้ทุกภาคส่วนนำไปกำหนดแนวทางการพัฒนาในทิศทางเดียวกัน พร้อมจัดการสำรวจวิจัยที่ทำให้มองภาพอนาคต (Foresight) ชัดเจนขึ้น สู่การกำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินธุรกิจ และการทำการตลาด รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้านอีคอมเมิร์ซ เพื่อพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคดิจิทัล ไปพร้อมๆ กับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยกระดับการคุ้มครองโดยการสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่าย ทำให้การคุ้มครองมีความรวดเร็วขึ้น
2. การเร่งเครื่องกลไกดูแลธุรกิจดิจิทัล ด้วยการจัดทำหลักเกณฑ์ กฎหมาย มาตรฐาน รวมถึงแนวปฏิบัติในการดูแลธุรกิจดิจิทัลและบริการที่สำคัญ ๆ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการใช้บริการธุรกิจบริการด้านดิจิทัลที่เปิดให้บริการไปแล้ว และกำลังจะเปิดให้บริการ เช่น บริการด้าน e-Meeting บริการด้าน Digital ID ด้วยระบบการตรวจประเมินที่มีมาตรฐาน
3. การเสริมฐานรากแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐ สู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว มั่นใจ ปลอดภัย ด้วยการพัฒนาแบบจำลองมาตรฐานและแบบจำลองข้อมูล (Data Model) แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน สนับสนุนศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ จัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Digital ID และ e-Signature สร้างความพร้อม ความตระหนัก แก่บุคลากรภาครัฐ ผ่านการอบรม พร้อมให้บริการเฝ้าระวัง ตอบสนองและจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ให้กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและบริการออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ
จากการดำเนินงานข้างต้น ETDA ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2565 ประเทศจะต้องมีภูมิทัศน์ด้านบริการดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน (Digital Services Landscape) ที่ครบถ้วน เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงเกิดระบบนิเวศ Digital ID หรือ Digital ID Ecosystem สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำไปสู่การใช้งาน Digital ID ในวงกว้าง และหน่วยงานรัฐจะต้องมีระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) และระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (e-office) ภายใต้มาตรฐาน กฎเกณฑ์ และการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงของ ETDA ที่จะพาทุกภาคส่วน Go Digital ไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ใน ปี 2563 ETDA ได้ส่งมอบงานสำคัญผ่าน 5 โครงการ ได้แก่
1. โครงการ Digital Governance เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นใจ มีกลไกกำกับดูแลที่น่าเชื่อถือ ผ่านกฎหมายและมาตรฐานสำคัญๆ เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ. Digital ID) รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลไอดี เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เชื่อถือได้ สะดวก รวดเร็ว และ ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (CA) รวมทั้งการออกข้อเสนอแนะฯ มาตรฐาน แนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ลดความเสี่ยง รวมถึงผลักดันเรื่องระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Meeting ทั้งการออกกฎหมายและมาตรฐาน ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยปลดล็อกกฎหมายที่มีอยู่เดิม และช่วยรับรองผู้ให้บริการระบบประชุม เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความเชื่อมั่นในระบบที่ใช้งานด้วย พร้อมเปิด Digital Service Sandbox เพื่อทดสอบการใช้นวัตกรรมหรือบริการดิจิทัลใหม่ ๆ ให้สอดคล้องข้อกฎหมาย หรือมาตรฐานต่าง ๆ ก่อนการใช้งานจริง
2. โครงการ Speed-up e-Licensing เร่งเครื่องระบบดิจิทัลในบริการภาครัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว โดยการพัฒนาบริการของรัฐให้เป็นบริการดิจิทัล ผ่านโครงสร้างข้อมูล (Schema) การออกใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานของภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับบริการดิจิทัลของเอกชน ด้วยการตรวจประเมินรับรองระบบสารสนเทศและการใช้บริการ e-Timestamping ประทับรับรองเวลาของ e-Document
3. โครงการ Digital Transformation ให้ภาครัฐมีระบบดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัย ห่างไกลภัยไซเบอร์ ด้วยโครงการ Government Threat Monitoring System (GTM) เฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานรัฐ พร้อมเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์ม Threat Watch ยกระดับการเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. โครงการ Thailand e-Commerce Sustainability ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ ด้วยอีคอมเมิร์ซ อย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพอีคอมเมิร์ซชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรด้านอีคอมเมิร์ซ ปูทางความพร้อมให้กับนักเรียน (ทสรช.) นักศึกษา (มศว, เอแบค ฯลฯ) เพื่อป้อนตลาดแรงงานยุคดิจิทัล เปิดหลักสูตรออนไลน์เพื่อให้คนไทยเรียนรู้ได้ผ่านแพลตฟอร์มของ ETDA และสำนักงาน ก.พ. พร้อมผลักดันแผนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาให้ทุกภาคส่วน ตลอดจนเดินหน้าสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย มูลค่าอีคอมเมิร์ซประเทศไทย และสถิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับไปวางแผนการตลาด และสร้างโอกาสในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้
5. โครงการ Stop e-Commerce Fraud ทั้ง คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุก ผ่านการนำเครื่องมือ Social Listening วิเคราะห์ข้อมูลในโลกออนไลน์เพื่อนำมาแจ้งเตือนภัยก่อนเกิดเหตุหรือลุกลาม และการจัดอบรมและเสริมสร้างความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่สนใจ เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้น