นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้(24 พ.ย.63) ทางกระทรวงได้เชิญผู้ประกอบการจากแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ ได้แก่ Lazada , Shopee, JD Central, Thaipost และ ShopBack เพื่อหารือกรณีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้รั่วไหล ซึ่งผู้ประกอบการยืนยันว่าไม่ได้หลุดจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซมีการแบ่งระดับการทำงานเป็น 3 ระดับ คือ 1. แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ 2. ผู้ประกอบการบริหารจัดการการขาย (Sale Management Platform) ที่มารับช่วงต่อ ซึ่งมีประมาณ 10-20 ราย ต่อแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ช และ 3.บริษัทขนส่ง โดยข้อมูลที่รั่วไหลนั้นน่าจะหลุดไปจากผู้ประกอบการระดับที่ 2 ที่เป็นบริษัทรับช่วงในการบริหารจัดการการขายที่มารองรับการสั่งซื้อจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กหรือธุรกิจใหม่
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหา คือแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ จะต้องมีการจัดการระบบไม่ให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลต้องมีระบบป้องกันที่รัดกุมและผู้ประกอบการแพลตฟอร์มบริหารจัดการการขาย จะต้องมาลงทะเบียนกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA โดยมีเงื่อนไขคือหากต้องการให้บริการกับแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ จะต้องรับผิดชอบในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถตรวจสอบได้ ตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ.2544 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551) โดยจะมีการหารือหลักเกณฑ์กับทาง ETDA ในสัปดาห์หน้า ซึ่งหลังจากนี้หากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซจะใช้บริษัทใดมารับช่วงต่อต้องตรวจสอบก่อนว่าบริษัทดังกล่าวเคยมีการลงทะเบียนกับทาง ETDA แล้วหรือไม่ และสำหรับบริษัทขนส่งจะมีการส่งจดหมายย้ำเตือนให้เพิ่มความปลอดภัยในการปกป้องข้อมูลผู้ใช้
“สำหรับผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ช นั้นยังไม่มีบทลงโทษเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ซึ่งเดิมมีผลบังคับใช้ พ.ศ. 2563 แต่ได้ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปอีก 1 ปี (27 พฤษภาคม 2563 - 31 พฤษภาคม 2564) โดยย้ำว่าข้อมูลที่รั่วไหลนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลเบื้องต้น เช่น ชื่อ นามสกุล ยอดการโอนเงินในการซื้อสินค้า ซึ่งทางแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ ยืนยันว่ายังไม่เกิดความเสียหายเป็นตัวเงิน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว