รุมอัดรัฐ ‘แอพเรียกแท็กซี่’ แข่งเอกชน

24 ม.ค. 2564 | 19:00 น.

ประชาชนจำนวนมากนิยมเรียกใช้บริการรถรับจ้างผ่านแอพพลิเคชัน ซึ่งรถยนต์ที่นำมาให้บริการบางส่วนไม่สามารถจดทะเบียนได้ตามที่กฎหมายกำหนด กรมขนส่งทางบก (ขบ.) จึงได้ออกกฎระเบียบเพื่อรองรับรถแท็กซี่ติดตั้งแอพพลิเคชันเพื่อให้บริการประชาชน ล่าสุดได้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนแบบบริการทางเลือก พ.ศ. ... 

 

โดยกำหนดให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนโดยการรับจ้างผ่านแอพ ขณะเดียวกันกรมขนส่งทางบกอยู่ระหว่างจัดทำแอพพลิเคชันบริการเรียกรถแท็กซี่ขึ้นมา เบื้องต้นจะดำเนินการทดลองใช้ภายในต้นปี 2564 หากทดลองแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคม 2564 ทำให้หลายฝ่ายออก มาเรียกร้องว่า กรมการขนส่งในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ควรเปิดให้บริการแอพแข่งกับเอกชน แต่ควรดูแลเรื่องคุณภาพการให้บริการของเอกชน และการแข่งขันที่เป็นธรรมมากกว่าการลงมาเป็นผู้เล่น 

 

รุมอัดรัฐ  ‘แอพเรียกแท็กซี่’ แข่งเอกชน

 

 

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เปิดเผยผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การให้ประชาชนนำรถส่วนตัวเข้ามาให้บริการได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ไม่ควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ควรให้ภาคเอกชนแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ตามกลไกตลาด เพราะการแข่งขันด้วยกลไกตลาดจะเกิดราคาที่เป็นธรรมเสมอ หากรัฐเข้ามาทำก็คงไม่สามารถสู้กับภาคเอกชนได้ และกลายเป็นการใช้งบประมาณที่สูญเปล่า รัฐควรเปิดเสรีและผลักดันให้ผู้เล่นรายอื่นแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐอาจกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันของภาคเอกชน เช่น การสนับ สนุนเงินกู้ซอฟต์โลนให้กับสหกรณ์แท็กซี่ เพื่อพัฒนาแอพขึ้นมาใช้งาน ซึ่งท้ายที่สุดอาจเหลือผู้เล่นในตลาด 2-3 ราย ทำให้ผู้เล่นเกิดการเรียนรู้ และอาจเกิดการรวมตัวกันเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ซึ่งการแข่งขันที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค

 

“ภาครัฐไม่ควรเข้ามาแข่งขันกับเอกชน หน้าที่ของภาครัฐคือการสนับสนุนให้เอกชนแข่งขันกันอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม”

 

 

ขณะที่ ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการแอพพลิเคชัน แกร็บ รู้สึกยินดีที่ได้เห็นกระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายฯ แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่สร้างภาระหรือความยุ่งยากให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องกำกับดูแล และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ปิดกั้นโอกาสในการกระจายรายได้และการเติบโตของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย  ซึ่งที่ผ่านมาแกร็บเองได้สนับสนุนนโยบายและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับภาครัฐ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากประสบการณ์การให้บริการ ทั้งนี้แกร็บคาดหวังให้ร่างกฎกระทรวงฯ นี้เป็นประโยชน์และสร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ได้เห็นบทเรียนจากตลาดอื่นๆ ในต่างประเทศมาแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดคือการเดินหน้าต่อโดยพิจารณาถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ

 

 

ด้าน ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ผู้ให้บริการรถแท็กซี่ CABB กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทของภาครัฐตามหลักรัฐธรรมนูญแล้วไม่ควรลงมาแข่งขันกับภาคเอกชน สิ่งที่รัฐควรทำคือ 1. อำนวยความสะดวกให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม 2. กำกับดูแลให้ผู้เล่นในตลาด ปฏิบัติตามกติกาที่ภาครัฐกำหนดไว้ จะเห็นว่า ขบ.เองไม่มีอินเซนทีฟหรือแรงจูงใจที่จะพัฒนาให้แอพพลิเคชันดีขึ้น ต่างจากบริษัทแท็กซี่เอกชนที่เมื่อมีคนใช้มากก็จะมีแรงจูงใจในการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง การที่ ขบ. ออกมาเป็นผู้เล่นอาจเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประสิทธิภาพ  ขณะที่การให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์มาจดทะเบียนเพื่อให้บริการโดยหลักการนั้นเห็นด้วย แต่ผู้เล่นทุกรายควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลด้วยกฎหมายเดียวกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,647 หน้า 16 วันที่ 24 - 27 มกราคม 2564

 

“ขนส่ง”ผุดแนวคิดดันแอป “แท็กซี่” เสียบ แกร็บ

ล้างบางแท็กซี่อายุเกิน 12ปี 1.1หมื่นคัน-ขบ.ผุดทางเลือกใหม่ ‘แท็กซี่วีไอพี’

“แกร็บ” บุกวอลล์สตรีท เล็งทำ IPO ระดมทุน 6 หมื่นล้านปีนี้