นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า จากที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันตน์ รมว.ดีอีเอส มอบหมายให้กระทรวงฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดำเนินการหาแนวทางแก้ปัญหาข่าวปลอม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ให้เข้าถึงการรับรู้ในวงกว้าง สร้างความตระหนัก และรู้เท่าทันข่าวปลอมให้กับประชาชน
ในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่หลังกลางเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่ามีจำนวนข่าวปลอมที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 63 – 26 ม.ค.64 มีจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้อง 12,082,316 ข้อความ หลังจากคัดกรองแล้วพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์ 807 ข้อความ โดยมีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 369 เรื่อง
ทั้งนี้ ข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบข้างต้น สัดส่วน 60% หรือ 221 เรื่องอยู่ในหมวดหมู่สุขภาพและภัยพิบัติ เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด เป็นสถานการณ์ที่คาบเกี่ยวทั้งปัญหาสุขภาพ และภัยพิบัติที่สร้างความเสียหาย ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ 146 เรื่อง หรือ 40% ส่วนอีก 2 เรื่องเป็นข่าวในหมวดหมู่เศรษฐกิจ
สำหรับ 10 อันดับข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ได้รับการเผยแพร่เข้าถึงคนจำนวนมากในช่วงวันที่ 19 ธ.ค. 63 - 26 ม.ค. 64 ประกอบด้วย 1. ประกาศปิดเมืองทางภาคเหนือ 11 จังหวัด 2. แรงงานต่างชาติลักลอบทุบกำแพงหลังพื้นที่กักกันเพื่อหลบหนี 3. เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) 4. กทม. วุ่น! บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิดวันเดียว 15 ราย 5. รพ.ภูมิพลฯ ปิดให้บริการห้องฉุกเฉิน หลังพบผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารักษา
6. สูตรยาสมุนไพร 3 แม่ทัพ ใช้รักษาโควิด-19 7. ภาพโฆษก ศบค. กล่าวว่าการเยียวยา คือภาระของภาษีประชาชน 8. พบผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ที่โรงพยาบาลบางปะกอก 1 9.คลิปวิดีโอสถานที่กักตัวโรงพยาบาลสนามมหาชัย จ. สมุทรสาคร และ 10. ป้องกันโควิด-19 ด้วยการฉีดวิตามินซี 10,000 มิลลิกรัม ตามลำดับ
รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวย้ำถึงภาพรวมการรับแจ้งเบาะแส ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 62 - 26 ม.ค. 64 จากการติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 52,492,463 ข้อความเป็นข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์และดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 22,322 ข้อความ ภายหลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 8,080 เรื่อง แบ่งเป็น หมวดสุขภาพ 4,524 เรื่อง (56%) หมวดภัยพิบัติ 143 เรื่อง (2%) หมวดเศรษฐกิจ 272 เรื่อง (3%) และหมวดนโยบายรัฐฯ 3,141 เรื่อง (39%)
“กระทรวงดิจิทัลฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เตรียมแผนการดำเนินการสร้างการรับรู้เท่าทันข่าวปลอมอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทั้งการเผยแพร่ผ่านช่องทางของศูนย์ฯ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ และทวิตเตอร์ เรายังมองถึงการขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกับสำนักข่าว รวมทั้งสถานีข่าวทีวีช่องต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายภุชพงค์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เผย 1 ปีดำเนินคดีผู้กระทำผิดแล้ว 61 ราย
‘ดีอีเอส’ โชว์ผลงาน ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ 1 ปี จับแล้ว 104 ราย