การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศที่ต้องเสียภาษี ขณะนี้หลายประเทศประเทศมีกฎหมายบังคับใช้แล้วกว่า 60 ประเทศ
ล่าสุดพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2567 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 จะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 7 ถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปหรือในเดือนกันยายน 2564
กฎหมายดังกล่าวเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการ e-Service ในประเทศไทย เช่น เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ยูทูป โดยจะเก็บในอัตรา 7% ต่อปี ซึ่งวิธีการเสียภาษีของผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศให้เสียภาษีจาก “ภาษีขาย” โดยไม่ให้นำภาษีซื้อมาหัก เพราะผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ให้บริการผ่านทางแพลตฟอร์ม และแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นผู้ส่งมอบบริการ การชำระค่าบริการ หน้าที่เสียภาษีจึงเป็นของแพลตฟอร์ม
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หลังจากกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรมสรรพากรมีเวลาอีก 180 วันในการจัดเตรียมระบบหลังบ้าน เพื่อจัดทำระบบการจ่ายภาษีให้ง่ายที่สุด โดยอยู่ระหว่างติดต่อประสานงานกับผู้ประกอบการให้มาจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยทุกอย่างจะทำผ่านระบบออนไลน์ ตามรูปแบบของต่างประเทศที่มีกฎหมายนี้มาก่อนไทยแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากนัก
“รายได้จากการจัดเก็บภาษี e-Service ในปีนี้จะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมนัก เพราะกว่าที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้เดือนกันยายนแล้ว เกือบจะสิ้นปีงบประมาณ 2563 ส่วนที่เคยประมาณการว่า จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีตัวนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาทนั้น เป็นการประมาณการในช่วงที่จะมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา ซึ่งอาจต้องประเมินสถานการร์ที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง”นายเอกนิติกล่าว
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอมกล่าวว่าภายหลังพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2567 ซึ่งจะเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ กฎหมายอีเซอร์วิส จากผู้ให้บริการต่างประเทศ กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศไทย มีผลบังคับใช้ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าหลังจากนี้กรมสรรพากร จะมีการเรียกผู้ให้บริการดิจิทัลเซอร์วิสจากต่างประเทศ ที่มีการให้บริการ และมีรายได้ในประเทศไทยเกิน 1.8 ล้านบาท เข้ามาจดทะเบียนจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยการจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิสนั้นผู้ให้บริการต่างประเทศ ก็จะไปเรียกเก็บภาษีแวตจากผู้บริโภค ซึ่งทำให้ค่าบริการสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประเทศไทยจะได้ คือ เราจะรู้ปริมาณธุรกรรมที่คนไทยใช้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ รู้ข้อมูลว่าเงินไหลออกต่างประเทศ
ด้านบริษัทกูเกิลประเทศไทย ระบุว่าขณะนี้ยังไม่ได้แผนการดำเนินการใดๆ โดยอยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายอี-เซอร์วิสอยู่ โดยยังมีเวลาการศึกษาก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้จริงเดือนกันยายน 2564
เช่นเดียวกับบริษัทไลน์ ประเทศไทย จำกัด ที่แจ้งว่าทางบริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่สำหรับรายละเอียดอยู่ในระหว่างการศึกษาร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่
ที่มา : หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564