“ดีป้า” เห็นชอบโครงการจับมือหลายหน่วยงานสถานศึกษา รัฐ-เอกชน ยกระดับความรู้- ทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนทุกระดับ ด้านหน่วยงานวิทยาศาสตร์ผนึกสถาบันอุดมศึกษาเดินหน้าจัดตั้ง “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” หวังใช้เทคโนโลยีอวกาศพัฒนาคน ยกระดับอุตสาหกรรมไทย
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Manpower Fund) จำนวน 23 โครงการ โดยมุ่งเน้นการยกระดับทักษะดิจิทัล นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา และในพื้นที่เป้าหมาย บุคลากรทางการศึกษา ประชาชนทั่วไป บุคคลในกลุ่ม Mid-career และผู้สูงวัย รวมถึงผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมกว่า 23,460 คน ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร 23 หน่วยงาน โดยมีมูลค่าการส่งเสริมกว่า 78 ล้านบาท
สำหรับโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุนในครั้งนี้ มีจํานวน 23 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการที่มุ่งเน้นการยกระดับทักษะดิจิทัลแก่นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา รวมถึงบุคลากรทางการ ศึกษา 2. โครงการยกระดับทักษะดิจิทัลขั้นสูงแก่บุคลากรดิจิทัล 3. โครงการยกระดับคุณ ภาพชีวิตและความมั่นคงแก่ประชาชนทั่วไป กลุ่ม Mid-career และผู้สูงวัย 4. โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา
ขณะที่ 6 หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ได้จับมือกับ 6 สถาบันอุดมศึกษาเดินหน้าผนึกกำลังจัดตั้ง “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” หวังใช้เทคโนโลยีอวกาศพัฒนาคน ยกระดับอุตสาหกรรมไทย
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานเลขานุการภาคีฯ กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ตลาดอุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่าหลายเท่าของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบัน เรียกได้ว่าอุตสากรรมอวกาศอยู่ในช่วงขาขึ้น และไทยต้องใช้ห้วงเวลานี้ตักตวงโอกาสพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ทันท่วงที โดยภาคีความร่วมมืออวกาศไทย มีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงในประเทศไทย โดยได้มีการลงนามความร่วมมือเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันสร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กโดยใช้องค์ความรู้ภายในประเทศ ทดสอบและควบคุมการใช้งานรวมถึงออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ Payload เช่น กล้องถ่ายภาพที่มีความสามารถในการถ่ายภาพในหลายความยาวคลื่น สามารถประยุกต์ใช้กับด้านการเกษตร การใช้พื้นที่ของประชากร และบรรยากาศ
ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะดาวเทียม เป็นสิ่งที่เราใช้ประโยชน์กันมายาว นานเป็นปกติกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทั้งการติดต่อสื่อสาร ดูถ่ายทอดรายการสด และในอนาคตคือ เรื่องของ internet of things ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนจากเทคโนโลยีจาก เสาสัญญาณ มาเป็นส่งสัญญาณจากดาวเทียม ที่กว้างไกลและครอบ คลุมกว่า ล้วนเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยควรจะต้องพึ่งพาตัวเองได้ในเทคโนโลยีอวกาศ เช่น ดาวเทียมที่เป็น earth observation และยานอวกาศ ที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือจากหลายฝ่ายมาร่วมทำงานให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม โดยทั้ง 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานวิทยาศาสตร์ 6 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษา 6 แห่ง โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จะเป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุนให้แก่สตาร์ทอัพเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ และสร้างความต้องการในการจ้างแรงงานภาคเอกชนที่เกี่ยวกับข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,670 หน้า 16 วันที่ 15 - 17 เมษายน 2564