ฮ่องกงระทึก! รำลึก 23 ปีคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่

01 ก.ค. 2563 | 23:58 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2563 | 07:39 น.

การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกงซึ่งมีผลตั้งแต่คืนวันที่ 30 มิ.ย. 2563 อาจจะทำให้อนาคตของฮ่องกงเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

 

1 ก.ค. 2540 เป็นวันที่ อังกฤษคืนฮ่องกงสู่อำนาจการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างเป็นทางการ หลังจากที่สัญญาเช่า 99 ปีหมดอายุสัญญาลงในวันที่ 30 มิ.ย. ปีเดียวกันนั้น ซึ่งเป็นยุคที่นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และนายเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำจีน 

 

นับจากนั้นมา ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง รัฐบาลจีนใช้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ปกครองฮ่องกง ตามกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ปกครองและบริหารฮ่องกงที่สภาประชาชนจีนอนุมัติและประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2533 ให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรี รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2540 จนไปถึง 30 มิ.ย. 2590 ซึ่งหลังจากนั้น ฮ่องกงจะเปลี่ยนไปปกครองแบบเมืองอื่น ๆ ของจีน

อนาคตของฮ่องกงแขวนอยู่กับความไม่แน่นอน

ฮ่องกงดำเนินนโยบายการค้าเสรีและเป็นเมืองท่าเสรี เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยังเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำน้ำเพิร์ล  หรือแม่น้ำซูเจียงในภาษาจีน เปรียบเป็นประตูการค้าที่สำคัญเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่

 

ด้วยสถานะพิเศษของฮ่องกงภายใต้หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" และนโยบายการค้าเสรีซึ่งแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงจึงเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยใช้ชื่อในฐานะสมาชิกขององค์การการค้าโลกว่า "Hong Kong, China" ซึ่งเป็นสมาชิกแยกต่างหากจากจีน นอกจากนั้น ฮ่องกงยังเป็นสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น APEC, PECC, ADB, WCO, ESCAP รวมทั้งเป็นผู้สังเกตการณ์ใน OECD

 

อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ หรือ 23 ปีให้หลังของการคืนฮ่องกงสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่ สถานภาพและสิทธิพิเศษของฮ่องกงในเวทีโลกอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนที่มีการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่มาใช้กับฮ่องกง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่คืนวันที่ 30 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป ร่างกฎหมายดังกล่าวลงนามโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และมีผลบังคับใช้ในทันที หลังจากที่สภาประชาชนแห่งชาติจีน (เอ็นพีซี) ผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ทั้ง 162 คน โดยจีนให้เหตุผลว่า เพื่อความมั่นคงและยุติการปลุกระดมสร้างความแตกแยกในฮ่องกงที่แสดงออกผ่านการชุมนุมประท้วง ก่อความรุนแรงกระทั่งกลายเป็นจลาจลในช่วงปีที่ผ่านมาและจนถึงขณะนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนไฟเขียว ใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกงวันนี้

"ทรัมป์" สั่งทบทวนด่วน เตรียมยกเลิกสถานะพิเศษฮ่องกง

นางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง

นางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง กล่าวในพิธีครบรอบ 23 ปีที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนรัฐบาลจีนเมื่อวานนี้ว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ดังกล่าว เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่สำคัญสุดนับตั้งแต่รัฐบาลอังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนจีน และขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนของฮ่องกง จากความวุ่นวายสู่การปกครองดูแลที่ดี แต่ฝ่ายผู้ที่คัดค้านการใช้กฎหมายความมั่นฉบับใหม่นี้ มองว่านี่คือจุดเปลี่ยนไปในทางลบและจะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง เป็นการละเมิดหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีนเองด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการทำให้ฮ่องกงกลับอยู่ภายใต้ระบบเพียงหนึ่งเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และนั่นก็เป็นเหตุผลที่หลายประเทศนำโดยสหรัฐอเมริกา เริ่มเคลื่อนไหวในการยกเลิก “สถานะพิเศษ” ของฮ่องกง ในการที่จะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากจีน   

 

กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงฉบับใหม่นี้ มีทั้งหมด 6 บท ประกอบด้วย 66 มาตรา ซึ่งมีการเผยแพร่คืนวันอังคารที่ผ่านมา (30 มิ.ย. 2563) มี 4 หมวดข้อหา ประกอบด้วย การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้าง การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ 

 

แม้กฎหมายไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง แต่นับจากนี้ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงจะมีผลบังคับใช้กับทั้งพลเมืองฮ่องกง และชาวต่างชาติซึ่งมีถิ่นพำนักถาวรในฮ่องกง ตามที่ระบุอยู่ในมาตรา 38 ของเบสิกลอว์ (Basic Law) ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง หากกระทำความผิดอาญาที่รวมถึงการแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างอำนาจ การก่อการร้าย และการสมคบคิดกับกองกำลังต่างชาติ ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลต่างชาติใช้มาตรการคว่ำบาตร จะถือเป็น “อาชญากรรม" มีบทลงโทษขั้นต่ำสุดคือการจำคุก 3 ปี และสูงสุดคือตลอดชีวิต

 

การปลุกระดมและยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังและการเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่ง รวมถึงคณะผู้บริหารฮ่องกง มีความผิดตามมาตรา 29 ของเบสิกลอว์ ขณะที่การทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งรวมถึงบริการยานพาหนะที่ใช้ในระบบขนส่งมวลชน "คือการก่อการร้าย" ผู้กระทำผิดนอกจากต้องรับโทษตามกฎหมายแล้ว จะไม่สามารถรับราชการและลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับได้

อีกเนื้อหาหนึ่งที่สำคัญคือ รัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่งจะจัดตั้ง "สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ" ขึ้นในฮ่องกง เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง และจัดการกับการก่ออาชญากรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ สำนักงานดังกล่าวจะมีระบบการทำงานและบุคลากรที่เป็นเอกเทศ หมายถึงการดำเนินงานไม่ขึ้นกับขอบเขตอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการในฮ่องกง โดยสำนักงานแห่งนี้สามารถ "แทรกแซง" การพิจารณาคดีความมั่นคงที่ "ถือว่าร้ายแรง" ซึ่งการไต่ส่วนของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติอาจกระทำ "เป็นการภายใน" ก็ได้

ฮ่องกงระทึก! รำลึก 23 ปีคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติยังมีมาตราเกี่ยวกับการเพิ่มความเข้มงวด และยกระดับการจัดระเบียบ “หน่วยงานต่างชาติในฮ่องกง” มุ่งเน้นไปที่องค์กรอิสระและสื่อมวลชน

 

ด้วยความคุมเข้มดังกล่าว ทำให้นานาชาติออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน ซึ่งนอกเหนือจากสหรัฐที่ได้ประกาศยกเลิกสถานะพิเศษที่เคยให้แก่ฮ่องกงแล้ว ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นและจุดยืนชัดเจนในเรื่องนี้ว่า การที่สภานิติบัญญัติของจีนลงมติบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงนั้น ถือเป็นเรื่องที่ “น่าเสียใจ” และจะทำลายความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่มีต่อหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่จีนใช้ในการปกครองฮ่องกงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

นายโยชิฮิเดะ ซูกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ฮ่องกงจะต้องรักษาระบบที่ “มีเสรีภาพ” และ “เปิดกว้าง” เพื่อที่ฮ่องกงจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ในแนวทางแห่งประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพ

 

"อนาคตของหลักการ หนึ่งประเทศ สองระบบ ถือว่ามีความสำคัญต่อญี่ปุ่น เนื่องจากเรามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด และมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับฮ่องกง" นายซูกะกล่าวกับสื่อมวลชน

 

ในฮ่องกงเองจนถึงเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) ก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ โดยมีการรวมตัวชุมนุมกันเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งพวกเขาเห็นว่ากำลังถูกลิดรอนโดยอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านกฎหมายฉบับใหม่นี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า มีการจับกุมชายคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชุมนุม โดยเขานำธงเอกราชฮ่องกงมาร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และถูกจับเป็นรายแรกหลังจากที่กฎหมายใหม่ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แต่หลังจากนั้นในวันเดียวกัน ตำรวจฮ่องกงก็ออกมาแถลงว่า ได้มีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ออกมาร่วมตัวประท้วงเนื่องในวันครบครอบ 23 ปีที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้กับจีนเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) จำนวนมากกว่า 300 คน ในข้อหาชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ขัดขวางการจราจร ครอบครองอาวุธ และฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้

ฮ่องกงระทึก! รำลึก 23 ปีคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่

ฮ่องกงระทึก! รำลึก 23 ปีคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่

นับเป็นครั้งแรกที่ตำรวจฮ่องกงบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฯ ดังกล่าว  สื่อระบุว่า ในระหว่างการสลายการชุมนุมและเข้าจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ตำรวจฮ่องกงได้ใช้เครื่องเสียงประกาศชัดไปยังผู้ชุมนุมว่าพวกเขากำลังทำความผิดอะไรบ้าง  “พวกคุณกำลังแสดงธงหรือป้าย ตะโกนสโลแกน หรือ มีพฤติกรรมอย่างเช่น บ่อนทำลายหรือแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ”

 

แม้การชุมนุมเมื่อวานนี้จะสิ้นสุดลงด้วยการเข้าสลายของตำรวจ ซึ่งมีการใช้ทั้งปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตา แต่ก็เชื่อว่าการชุมนุมท้าทายกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้จะยังคงเกิดขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า และฮ่องกงอาจจะไม่สามารถกลับคืนสู่ภาวะที่เคยเป็นมาอีกต่อไปไม่ว่าจะในแง่การเป็นเมืองท่าเสรีศูนย์กลางการค้าการส่งออกของภูมิภาคหรือการเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก

ข้อมูลอ้างอิง

Hong Kong: First arrests under 'anti-protest' law as handover marked