แอสตร้าเซนเน้กา บริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์รายใหญ่สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน แถลงเกี่ยวกับ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายใต้ชื่อ AZD1222 ที่บริษัทร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ว่า วัคซีนตัวนี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็น “วัคซีนสำหรับโลก” เพราะนอกจากมีประสิทธิภาพในระดับน่าพอใจแล้ว ยังมีต้นทุนการผลิตราคาถูกกว่า อีกทั้งยังสะดวกในการเก็บรักษาและในการแจกจ่าย นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตออกมาครั้งละมาก ๆ ได้รวดเร็วกว่า เมื่อเทียบกับวัคซีนของบริษัทอื่น ๆที่เป็นคู่แข่ง
ในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (23 พ.ย.) แอสตร้าเซนเนก้าระบุว่า บริษัทสามารถที่จะผลิตวัคซีนออกมาได้มากถึง 200 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ (2563) ซึ่งมากกว่ากำลังผลิตของคู่แข่งราว 4 เท่าตัว (เมื่อเทียบกับตัวเลขกำลังผลิตวัคซีนของไฟเซอร์ บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐที่เคยระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้) และสำหรับไตรมาสแรกของปีหน้า (2564) แอสตร้าเซนเนก้าจะผลิตวัคซีนออกมาอีก 700 ล้านโดสพร้อมให้ใช้กันได้ทั่วโลก
“นี่หมายถึง เรามีวัคซีนสำหรับโลกแล้ว” แอนดริว พอลลาร์ด ผู้อำนวยการของกลุ่มวัคซีน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวนี้ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า กล่าว
ประสิทธิภาพในการป้องกันถึงระดับ 90%
สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 70% ในการศึกษาทดสอบขั้นท้ายๆ ที่ดำเนินการในอังกฤษประเทศและบราซิล อย่างไรก็ตาม แอสตร้าเซนเนก้าอธิบายว่า อัตราความสำเร็จในการป้องกันจะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 90% ถ้าให้วัคซีนนี้ครึ่งโดสแล้วตามด้วย 1 โดสเต็ม ขณะที่ระดับประสิทธิภาพจะเหลือ 62% หากให้ 1 โดสเต็มทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกอาสาสมัครส่วนใหญ่ที่เข้ารับการทดลอง
ประเด็นสำคัญคือ บริษัทยืนยันถึงความปลอดภัยของวัคซีน โดยอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีน AZD1222 ไม่มีผู้ป่วยรายใดที่มีอาการรุนแรงหรือต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีความปลอดภัยในกลุ่มผู้สูงอายุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวดี! คนไทยได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 กลางปีหน้า
ทุ่ม400ล้าน เร่งผลิต "วัคซีนโควิด"
“แอสตร้าเซนเนก้า” บรรลุดีลผลิตวัคซีนต้านโควิดในจีน
ขั้นตอนถัดไปบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จะนำเสนอผลการทดลองเบื้องต้นที่สมบูรณ์ (full interim) เพื่อการพิจารณาของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต่อไป
หุ้นของแอสตราเซเนกา หล่นลงมา 4% เมื่อวันจันทร์ ถือเป็นผลงานในรอบวันที่แย่ที่สุดของหุ้นตัวนี้ในรอบ 6 เดือน เนื่องจากพวกนักลงทุนเข้าใจกันว่าข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ออกมาน่าผิดหวังเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่างบริษัทไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ซึ่งรายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ในอัตรา 94- 95%
กระนั้นก็ตาม วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นบริษัทยาสัญชาติอังกฤษ ก็ยังมีจุดเด่นหรือความได้เปรียบที่สำคัญๆ หลายประการ หากจะเปรียบเทียบกับวัคซีนของคู่แข่ง เช่นกรณีของต้นทุนสำหรับวัคซีนตัวนี้ที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ดอลลาร์ต่อการฉีด 1 ครั้ง ซึ่งถือว่าถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับราคาวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา
นอกจากนี้ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ายังสามารถขนส่งและเก็บรักษาเอาไว้ในอุณหภูมิของตู้เย็นปกติ นั่นคือระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการแจกจ่ายโดยเฉพาะในบรรดาประเทศยากจน เมื่อเทียบกับวัคซีนของไฟเซอร์ซึ่งต้องขนส่งและเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมาก คือประมาณ -70 องศาเซลเซียส
ประเด็นสำคัญคือ การผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่า ซึ่งหมายความว่า ทั้งประเทศที่ร่ำรวยและประเทศยากจน สามารถที่จะแจกจ่ายวัคซีนออกไปได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วกว่า ซึ่งจะช่วยให้นานาประเทศทั่วโลกสามารถหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างมาตรการล็อกดาวน์ทั้งหลายที่ส่งผลกระทบหนักทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) เกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอของบประมาณและได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 3,700 ล้านบาท เพื่อการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดนั้น ไทยได้จัดทำข้อตกลงจัดหาวัคซีนด้วยวิธีการจองล่วงหน้ากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว และคนไทยก็มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนชนิดนี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ
“คาดว่าเราจะได้รับวัคซีนกลางปีหน้า เนื่องจากมีความร่วมมือผลิตวัคซีนในประเทศไทยด้วย และเป็นโอกาสในการสร้างขีดความสามารถของประเทศเพื่อความมั่นคงในระยะยาว” นพ.โอภาสกล่าว
สำหรับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนโควิด-19 อยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข มีโครงการความร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ในการผลิตวัคซีน AZD1222 จำนวนมากโดยไม่หวังผลกำไรในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา นับเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรด้านสาธารณสุขชั้นนำของโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI) องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) และผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก ผนึกกำลังเพื่อช่วยกันกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงและเท่าเทียมโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้