รายงานพิเศษสองตอนจบ
ต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ของสหรัฐอเมริกา และบริษัท บิออนเทค (BioNTech) ของเยอรมนีซึ่งทำการวิจัยร่วมกัน ได้กลายเป็นผู้คิดค้น วัคซีนป้องกันโควิด-19 รายแรกที่ออกมาประกาศผลการทดลองวัคซีนว่า มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ถึง 94% หลังจากนั้น ก็มีการประกาศข่าวดีตาม ๆกันมาโดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นของอังกฤษ รัสเซีย หรือจีน
การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
เมื่ออุปสรรคด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนคลี่คลายลงไป ความท้าทายสำคัญที่เหลืออยู่คือประเด็นการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มพันธมิตรวัคซีนเพื่อประชาชน (People Vaccine Alliance - PVA) ได้เผยแพร่รายงานเตือนว่า ประชาชนในกลุ่มประเทศยากจน มีแนวโน้มที่จะเข้าไม่ถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิดภายในปีหน้า (2564) เนื่องจากกลุ่มประเทศร่ำรวยหลายประเทศได้กักตุนวัคซีนดังกล่าวไว้ในปริมาณมากเกินความจำเป็น เช่น แคนาดาที่มีประชากรราว 37 ล้านคนนั้น ขณะนี้มีปริมาณวัคซีนที่จองซื้อไว้ มากพอที่จะฉีดให้ประชาชนทั้งประเทศได้ถึง 4 รอบ เป็นต้น
ประเทศรองลงมาที่เข้าถึงวัคซีนมากที่สุดคือ อังกฤษ ออสเตรเลีย ออสเตรีย และเบลเยี่ยม เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้น้อยเกือบ 70 ประเทศ ที่ยังขาดการเข้าถึงวัคซีน อาทิ เคนยา เมียนมา ไนจีเรีย ปากีสถาน และยูเครน โดยประเทศเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้เฉลี่ย 1 ใน 10 คนเท่านั้นภายในปีหน้า
สำหรับเอเชีย เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีวัคซีนมากพอสำหรับประชากร 88% ของประชากร 50 ล้านคนทั้งประเทศ ขณะที่ฟิลิปปินส์สามารถสั่งซื้อได้เพียง 2.6 ล้านโดสสำหรับการส่งมอบในปีหน้า ครอบคลุมประชากรเพียง 1.3 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดกว่า 106 ล้านคน
กลุ่มประเทศร่ำรวย ซึ่งมีประชากรคิดเป็น 14% ของประชากรทั่วโลก ขณะนี้มีการจับจองวัคซีนได้แล้วถึง 53% ของสต็อกวัคซีนที่กำลังผลิตทั้งในสิ้นปีนี้ (2563) และในปีหน้า (2564) อาทิ สหภาพยุโรป(อียู) สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และอิสราเอล ประเทศเหล่านี้ มีจำนวนวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากรแล้ว ขณะที่กลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง และโดยส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา ยังขาดแคลนการเข้าถึงวัคซีนดังกล่าว
ถึงแม้ว่าสหประชาชาติจะมี โครงการ “โคแวกซ์” (COVAX) ที่มีเป้าหมายเร่งการพัฒนาและจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศยากจน โดยขณะนี้มีชาติสมาชิกกว่า 184 ประเทศที่เข้าร่วมในโครงการ แต่ก็ยังไม่อาจรับประกันได้ว่า กลุ่มประเทศยากจนหลายชาติจะเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้ภายใต้ปี 2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่พัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีราคาต่อโดสถูกที่สุดในขณะนี้ ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดหาวัคซีนจำนวน 64% ให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และข่าวดียิ่งไปกว่านั้นคือ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามีข้อตกลงที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนต้าน-โควิด-19 ให้กับประเทศไทย
โครงการวัคซีนต้านโควิดในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการการเซ็นสัญญาจองซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ล่วงหน้าเอาไว้เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย. โดยเป็นการจองล่วงหน้าเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการวัคซีนกว่า 2,000 ล้านบาท
มติ ครม.ดังกล่าวระบุว่าสัญญาจองและจัดซื้อนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ภายในปี พ.ศ. 2564 และจะลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ลดการสูญเสียเชิงเศรษฐกิจได้เป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท คาดว่าจะได้เห็นวัคซีนต้านโควิด-19 ช่วงเดือนพ.ค. หรือกลางปีหน้า หลังจากนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้า ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า โดยตั้งเป้าว่าจะมอบวัคซีนชุดแรก 26 ล้านโดส ที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตได้ในกลางปี 2564 ซึ่งคนกลุ่มแรก ๆ ที่จะไดัรับวัคซีนคือ กลุ่มผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วัคซีนต้านโควิด-19 ของขวัญแด่มวลมนุษยชาติ (ตอน1)
จีนเผยโฉมวัคซีนโควิดชนิดใหม่ ปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย
9 ประเทศทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิดแล้วมากกว่า 4.4 ล้านโดส
“อรุณรุ่ง” วิกฤตโควิดยุโรป อียูเริ่มการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว