นายอิน เว่ยตง ประธาน บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ยืนยันว่า วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ของทางบริษัทมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพใน การป้องกันไวรัสโควิด-19 หลังจากมีรายงานว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันเพียง 50.4% จากการทดสอบทางคลินิกขั้นสุดท้ายในประเทศบราซิล
นายเว่ยตง ซึ่งเป็นทั้งประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า ผลการทดลองทางคลินิกของวัคซีนในระยะที่ 3 เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าวัคซีน CoronaVac มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ได้ดีทั่วโลก "หลายประเทศต่างก็ใช้วัคซีนล็อตเดียวกันในการทดลอง แต่ประเทศเหล่านั้นไม่มีเครื่องมือทดสอบที่เหมือนกัน" ทั้งนี้ นอกเหนือจากบราซิล ซิโนแวคยังได้ทำการทดสอบทางคลินิกวัคซีน CoronaVac ในประเทศอินโดนีเซีย และตุรกีด้วย
การแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่วานนี้ (13 ม.ค.) มีรายงานข่าวว่า ผลการทดลองทางคลินิกของวัคซีน CoronaVac ของบริษัทซิโนแวคในประเทศบราซิล ให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 เพียง 50.4% ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่มีรายงานว่า วัคซีนดังกล่าวให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ถึง 78% ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงถึงขั้นรุนแรง
นายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ยืนยันว่า เขาจะไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนดังกล่าว ขณะที่ผลการสำรวจระบุว่า ชาวบราซิลราวครึ่งหนึ่งก็ปฏิเสธที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนดังกล่าวเช่นกัน
บราซิลนับเป็นประเทศแรกที่เสร็จสิ้นการทดลองวัคซีน CoronaVac ในระยะที่สาม ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย แต่การแถลงผลการทดลองที่มีกำหนดเปิดเผยครั้งแรกในช่วงต้นเดือนธ.ค.2563 ได้ถูกเลื่อนออกไปถึง 3 ครั้งจนถึงเดือนนี้ ซึ่งความล่าช้าในการเปิดเผยผลการทดลองที่เกิดขึ้น ทำให้มีการมองว่าผู้ผลิตวัคซีนจากจีนขาดความโปร่งใสและอาจมีความพยายามปกปิดข้อมูลผลการทดลองที่แท้จริง
ก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค. 2563 สถาบันบูตันตันของรัฐบาลบราซิลได้ปฏิเสธที่จะเปิดเผยประสิทธิภาพวัคซีน CoronaVac จากการทดลองกับอาสาสมัคร 13,000 คน โดยอ้างถึงภาระผูกพันตามสัญญากับบริษัทซิโนแวค แต่ในขณะนั้นก็ยังยืนยันว่า วัคซีนของซิโนแวคมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันไวรัสโควิด-19 และจะได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในบราซิล
นอกจากยืนยันว่าจะไม่ฉีดวัคซีนของบริษัทซิโนแวคแล้ว นายโบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ยังกล่าวว่า เขาเป็นฝ่ายถูกต้องที่ได้เคยตั้งข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจีนรายนี้มาตลอด หลังมีการเปิดเผยว่า วัคซีน CoronaVac มีประสิทธิภาพเพียง 50.4%
"50% ถือว่าดีหรือเปล่า ที่ผ่านมาผมถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการแสดงความเห็นของผม และตอนนี้ พวกเขาก็พบความจริง หลังจากที่ผมถูกโจมตีจากเรื่องวัคซีนนี้มาถึง 4 เดือน" นายโบลโซนารูกล่าว
มาเลเซีย-สิงคโปร์ขอข้อมูลเพิ่ม /อินโดฯ-ไทย เดินหน้าอย่างรอบคอบ
ผลสืบเนื่องจากรายงานข่าวที่ว่า วัคซีน CoronaVac ของซิโนแวค มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 เพียง 50.4% ในทดสอบที่ประเทศบราซิล ทางการมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีแผนจะนำวัคซีนดังกล่าวมาฉีดให้ประชาชน ได้ออกมาแถลงวานนี้ (13 ม.ค.) ว่า รัฐบาลจะขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ของจีน ก่อนที่จะให้การอนุมัติและจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว
ในส่วนของรัฐบาลมาเลเซีย มีการแถลงโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมผ่านทางทวิตเตอร์ว่า รัฐบาลมาเลเซียจะเดินหน้ากระบวนการจัดซื้อวัคซีนจากซิโนแวค “ก็ต่อเมื่อ” วัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยาของมาเลเซีย ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วันคือเมื่อวันอังคาร (12 ม.ค.) บริษัท ฟาร์มาเนียกา (Pharmaniaga Bhd) ของมาเลเซีย เพิ่งจะลงนามทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จากซิโนแวค ถึง 14 ล้านโดส และยังมีแผนจะตั้งฐานการผลิตวัคซีนของซิโนแวคในประเทศมาเลเซียในอนาคตด้วย
นอกจากบริษัทซิโนแวคแล้ว ทางการมาเลเซียยังกำลังเจรจาจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น ๆด้วย ซึ่งรวมถึงบริษัท แคนซิโน ไบโอโลจิคส์ (CanSino Biologics) จากประเทศจีน และสถาบันกามาเลยา (Gamaleya Institute) จากประเทศรัสเซีย ที่เป็นผู้วิจัยและพัฒนาวัคซีน “สปุตนิก วี” โดยมีเป้าหมายจัดซื้อวัคซีนรวม 23.9 ล้านโดส
ส่วนรัฐบาลรัฐบาลสิงคโปร์ระบุว่า จะพิจารณาจากข้อมูลอย่างเป็นทางการของบริษัทซิโนแวคที่จะมีการเผยแพร่ในอนาคต มากกว่าที่จะอ้างอิงจากตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีการรายงานในข่าว ก่อนที่จะทำการตัดสินใจว่าจะอนุมัติวัคซีนดังกล่าวหรือไม่
ทั้งนี้ นอกจากมาเลเซียและสิงคโปร์ที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค แล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการจองซื้อ-ได้รับมอบ และมีการฉีดวัคซีน CoronaVac ของบริษัทซิโนแวคให้กับประชาชนแล้วโดยเริ่มฉีดเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็คือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชาชนอย่างเป็นทางการหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งอินโดนีเซีย (BPOM) ประกาศ อนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ในกรณีฉุกเฉินเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนประเทศไทยนั้นมีการจองซื้อวัคซีนจากซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส และจะมีทยอยการส่งมอบระหว่างเดือนก.พ.-เม.ย. นี้ โดยแบ่งเป็นเดือนก.พ. 2 แสนโดส เดือนมี.ค. 8 แสนโดส และเดือนเม.ย. 1 ล้านโดส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความมั่นใจว่า ก่อนจะเริ่มการฉีดให้กับประชาชนได้นั้นต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติอย่างละเอียดรอบคอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับข่าวประสิทธิภาพวัคซีนที่มีออกมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำความรู้จักบิ๊กวัคซีนจีน “ซิโนแวค ไบโอเทค”
อย.อินโดฯ อนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิดของ บ.ซิโนแวคแล้ว เริ่มฉีด 13 ม.ค.
สามบิ๊กอาเซียน ไทย-อินโดฯ-ฟิลิปปินส์ เตรียมฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” ในระดับมวลชนเร็ว ๆนี้