ภายหลัง กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจ จากรัฐบาลพลเรือนของ นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) เช้าตรู่วันนี้ (1 ก.พ.) พร้อมทั้งควบคุมตัวนางซูจี รวมทั้งประธานาธิบดีวิน มินท์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคน โดยกองทัพได้ประกาศภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปีนับจากนี้ และให้อำนาจการบริหารเป็นไปตามการบัญชาการของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวระบุว่ากองทัพเมียนมาได้เข้าควบคุมสถานที่ราชการหลายแห่งในเมืองย่างกุ้ง เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว ทาง สหประชาชาติ (ยูเอ็น) นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ยูเอ็นขอประณามการที่กองทัพเมียนมาควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลหลายคน และขอเรียกร้องให้ผู้นำกองทัพเมียนมาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนชาวเมียนมาซึ่งเป็นผู้เลือกตั้งคณะรับบาลชุดนี้เข้ามา สถานการณ์ในขณะนี้เป็นสิ่งร้ายแรงต่อการปฏิรูปประชาธิปไตย ผู้นำทุกคนต้องกระทำการเพื่อเห็นแก่การปฏิรูปประชาธิปไตยเมียนมา ควรจะต้องเปิดการเจรจาอย่างมีความหมาย งดการใช้ความรุนแรง และเคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ การกระทำของกองทัพเมียนมาเป็นการประกาศยึดอำนาจทั้งในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการของประเทศ เป็นเวลา 1 ปีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป ทำให้พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งนายมิน ส่วย รองประธานาธิบดี ให้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีรักษาการก็ตาม แต่อำนาจสูงสุดยังคงอยู่ที่พล.อ.มิน อ่อง หล่าย
เมียนมาเพิ่งจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา (2563) ซึ่งพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย แต่กองทัพประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการทุจริต ที่รวมถึงการสวมสิทธิ์เลือกตั้ง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมา ก็ยังคงยืนยันว่าไม่มีความผิดปกติ กองทัพเมียนมายืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 ก.พ. ออกไปก่อน แต่รัฐบาลก็ไม่นำพาข้อเรียกร้องดังกล่าว นำมาซึ่งการบุกรวบตัวผู้นำพรรค NLD และแกนนำก่อตั้งรัฐบาลในช่วงรุ่งสางวันที่ 1 ก.พ.ในที่สุด
สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้วางแผนที่จะจัดการประชุมในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (4 ก.พ.) ที่เมียนมาร่วมกับคริสติน ชแรนเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมา เพื่อหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ด้านทำเนียบขาว ได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ของนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐอเมริกาวันนี้ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รับทราบสถานการณ์ในเมียนมาแล้ว ทั้งนี้ สหรัฐฯสนับสนุนสถาบันและกระบวนการทางประชาธิปไตยของเมียนมาโดยตลอด รัฐบาลสหรัฐจึงขอเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา เคารพหลักนิติธรรม และบรรทัดฐานตามหลักประชาธิปไตย และแสดงออกถึงความเคารพนั้น ด้วยการปล่อยตัวบุคคลซึ่งถูกควบคุมตัวทั้งหมดภายในวันนี้
ขณะเดียวกัน อีกประเทศที่ออกมาแสดงจุดยืนอย่างรวดเร็วต่อเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา คือ ออสเตรเลีย โดยนางมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย ได้ออกมาแถลงการณ์ว่า รัฐบาลออสเตรเลีย มีความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา และขอเรียกร้องให้ทหารเมียนมาปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยเร็วที่สุด
ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้เมียนมาปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยและสันติภาพ โดยนายคัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในฐานะโฆษกรัฐบาล กล่าวในระหว่างแถลงข่าวว่า สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขสถานการณ์โดยเจรจาอย่างสันติตามหลักประชาธิปไตย ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเองพร้อมจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของพลเมืองญี่ปุ่นที่เข้าไปทำธุรกิจหรือพำนักอยู่ในประเทศเมียนมา ณ เวลานี้
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ระบุถึงเหตุการณ์ยึดอำนาจในเมียนมาว่า ยังไม่ขอออกความคิดเห็นใดๆ จะขอรอดูพัฒนาการของทางเมียนมาก่อน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามมองว่าโครงการลงทุนต่างๆ ในเมียนมาจะยังเดินหน้าต่อไป
สำหรับกรณีที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล้อปเม้นต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD ถูกฝ่ายเมียนมายกเลิกสัญญาลงทุนโครงการทวายเฟสแรกนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ยังไม่ได้คุยกับทาง ITD เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ต้องเข้าไปดูก่อน แต่หลังจากนั้นจะมีการนัดคุยกับ ITD อีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทม์ไลน์ "รัฐประหารเมียนมา" จากข่าวลือถึงการจับกุม "อองซาน ซูจี”
คณะรัฐประหารเมียนมา ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี