กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้น บัญชีดำ (blacklist) หน่วยงานของเมียนมา ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม กระทรวงกิจการภายในประเทศ (เทียบเท่ากระทรวงมหาดไทยของไทย) และองค์กรพาณิชย์อีก 2 แห่ง พร้อมทั้งประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดมากขึ้นต่อเมียนมาด้วย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา สหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำผู้นำกองทัพเมียนมาหลายคน รวมทั้งองค์กรอีก 3 แห่ง ที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพหรือกองกำลังรักษาความมั่นคงของเมียนมา เนื่องจากการก่อรัฐประหารและยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเมียนมาออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับเดือนแล้ว และมีการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงในระยะหลัง ๆ ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจ ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมประท้วงแล้วจำนวนกว่า 50 ราย ขณะที่แกนนำของการชุมนุมระบุว่าตัวเลขผู้เสียชีวิต อาจมีมากกว่านั้น
ทั้งนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศภาวะฉุกเฉินภายในประเทศระยะเวลา 1 ปี หลังจากนายวิน มินต์ ประธานาธิบดีเมียนมา และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา รวมทั้งเจ้าหน้าที่รายอื่นๆของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้ถูกกองทัพควบคุมตัวในการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยกองทัพเมียนมากล่าวหาว่า มีการโกงครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพ.ย. 2563 ซึ่งทำให้พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
นางคริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำเมียนมา เปิดเผยว่าได้เข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเมียนมา ซึ่งรวมถึงพล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐของเมียนมา โดยตนได้เตือนว่าเมียนมาจะถูกโดดเดี่ยวจากประเทศต่างๆ และจะถูกตอบโต้ต่อการทำรัฐประหารในเดือนก.พ. แต่เมียนมาก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อท่าทีของนานาชาติแต่อย่างใด
"คำตอบของเขา(พล.อ.โซ วิน) คือเมียนมาเคยถูกคว่ำบาตรมาแล้ว และก็เคยรอดมาแล้ว ดังนั้น เมื่อดิฉันเตือนว่าพวกเขาจะถูกโดดเดี่ยว คำตอบของเขาก็คือ เมียนมาต้องเรียนรู้ที่จะเดินร่วมทางกับ “เพื่อน”เพียงไม่กี่ประเทศ' " นางบูร์เกเนอร์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: