ผลวิจัยชี้ ระยะห่าง 6 หรือ 60 ฟุต ก็มีโอกาสติดเชื้อโควิดภายในอาคารเท่ากัน

24 เม.ย. 2564 | 18:41 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2564 | 06:27 น.

งานวิจัยของ MIT ชี้ว่า ความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดจะต่ำลงหากอยู่ในสภาวะที่มี “การถ่ายเทอากาศที่ดี” แม้จะมีคนจำนวนมาก ในทางกลับกัน หากอยู่ในอาคารแม้จะเว้นระยะห่าง 6 หรือ 60 ฟุตก็มีโอกาสติดเชื้อเท่ากัน และมีอีกหลากหลายปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อภายในอาคาร นอกเหนือจากระยะห่าง   

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ศาสตราจารย์มาร์ติน ซี. บาแซนท์ และศาสตราจารย์จอห์น ดับเบิลยู เอ็ม บุช จาก สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผย ผลการวิจัยชิ้นใหม่ ระบุว่า ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในอาคาร นั้นเท่ากัน ไม่ว่าบุคคลจะอยู่ห่างกัน 6 ฟุต (1.83 เมตร) หรือ 60 ฟุต (18.29 เมตร) แม้จะสวมหน้ากากอนามัยก็ตาม แต่ความเสี่ยงดังกล่าวจะอยู่ในระดับต่ำในพื้นที่ซึ่งมีการถ่ายเทอากาศ ได้ดี

ผลการวิจัยดังกล่าวเท่ากับเป็นการท้าทายคำแนะนำที่ใช้กันทั่วโลกที่ให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมราว 6 ฟุต (six-foot rule) เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

ศาสตราจารย์บาแซนท์ และศาสตราจารย์บุช ได้พัฒนาแบบจำลองเพื่อคำนวณความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในอาคาร (indoor setting) โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ระยะเวลาที่อยู่ภายในอาคาร การกรองและการไหลเวียนของอากาศ การสร้างภูมิคุ้มกัน ไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ การใช้หน้ากากอนามัย รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่มีการสูดอากาศเข้าสู่ร่างกาย เช่น การหายใจ การรับประทานอาหาร การพูด หรือการร้องเพลง

ทีมงานวิจัยระบุว่า กฎระยะห่าง 6 ฟุตนั้น ไม่ได้มีพื้นฐานสนับสนุนทางกายภาพ เพราะอากาศที่บุคคลสูดหายใจเข้าไปในขณะที่สวมหน้ากากอนามัยนั้นมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนที่ขึ้นและลงอยู่ภายในห้อง ดังนั้นบุคคลจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 จากอากาศรอบๆ ตัวมากกว่าจากการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

ศาสตราจารย์บาแซนท์ระบุว่า ตัวแปรสำคัญที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) และองค์การอนามัยโลก (WHO) มองข้ามนั้นได้แก่ “ระยะเวลา” ที่บุคคลอยู่ร่วมกันภายในอาคาร เพราะหากบุคคลอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อนานเท่าใด โอกาสที่จะติดเชื้อก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

ระยะเวลาที่ใช้ร่วมกันภายในพื้นที่อากาศปิดก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ

นอกจากนี้ การวิจัยระบุว่า การเปิดหน้าต่างหรือการติดตั้งพัดลมเพื่อให้อากาศมีการเคลื่อนที่ถ่ายเทมากขึ้นนั้น อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อติดตั้งระบบกรองอากาศใหม่

ผลการวิจัยนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า หากพื้นที่ใดที่มีการระบายอากาศอย่างเหมาะสม พื้นที่นั้นๆ ก็สามารถทำให้เป็นสถานที่ซึ่งปลอดภัยได้ แม้ว่าจะมีจำนวนคนเต็มความจุของสถานที่ก็ตาม

นักวิจัยระบุว่าเนื่องจากเชื้อไวรัสโควิดที่อยู่ในฝอยละอองของลมหายใจของผู้ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย สามารถแพร่กระจายไปในอากาศเมื่อบุคคลนั้นหายใจ พูด หรือรับประทานอาหาร ฝอยละอองที่มีเชื้อโควิดนี้เมื่อถูกหายใจออกมาผนวกกับอุณหภูมิความร้อนของร่างกาย ก็จะลอยตัวขึ้นและแพร่กระจายไปได้ทั่วห้อง ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีอากาศปิด ไม่ว่าเราจะอยู่ใกล้ หรืออยู่ห่างจากผู้ที่มีเชื้อโควิดนี้ ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็มีพอๆกัน ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงย้ำว่า ระยะเวลาที่ใช้ร่วมกันภายในพื้นที่อากาศปิดดังกล่าว จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งกว่าระยะห่าง และไม่ควรมองข้าม  

“เราจำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์มารองรับ เป็นข้อมูลที่มีพื้นฐานจากการวิเคราะห์ ไม่ใช่เพื่อสร้างความตื่นกลัว” ศาสตราจารย์บาแซนท์ย้ำ และว่า เขาคาดหวังว่างานวิจัยที่ผ่านการพิจารณาทบทวนอย่างเข้มข้นมาแล้วถึง 3 รอบและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วนี้ จะได้รับการพิจารณานำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายโดยหน่วยงานภาครัฐต่อไป

 

ข้อมูลอ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง