แบตแสนล้าน 5 ยักษ์ นำร่องบูม อีอีซี

08 เม.ย. 2560 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2560 | 15:45 น.
แบตแสนล้าน 5 ยักษ์ นำร่องบูม อีอีซี

– 8 เม.ย.60 – หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ป ฉบับที่ 3251 ระหว่างวันที่ 9 – 12 เม.ย.2560 รายงานว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายล็อตแรก เด้งรับ “อีอีซี” นำขบวนโดยบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ บางจาก เบตา เอ็นเซิร์ฟและปตท. ลงทุนรวมแสนล้าน หวังเป็นฐานผลิตใหญ่ป้อนตลาดโลก เล็งที่ตั้งนิคมไฮเทคแปดริ้ว

ประเดิมจัดทัพการลงทุนครั้งใหญ่ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ “นิว เอส-เคิร์ฟ” ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( Eastern Economics Corridor Development-EEC) หรือ “อีอีซี” ที่ถือเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจระลอกใหม่ของรัฐบาล  โดยกลุ่มยานยนต์และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องอย่าง “แบตเตอรี่” พร้อมตั้งโรงงานใหม่หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค รองรับตลาดรถยนต์ในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก

การผลิต “แบตเตอรี่” ถือเป็นอุตสาหกรรมหนักที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและลงทุนมหาศาล ซการขยับตัวครั้งนี้สอดคล้องกับแผนลงทุนของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ โตโยต้า นิสสัน และค่ายรถยนต์จากยุโรป ที่กำลังปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง อีวี ไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด ตามเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า วันที่ 11 เม.ย.นี้ กนอ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) จะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อร่วมมือกันหาแนวทางจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฮเทค  รองรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งที่ผ่านมาทางสอท.ได้มีการหารือร่วมกับกับกนอ. มาแล้วระยะหนึ่ง ส่วนจะมีบริษัทไหนมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฮเทคบ้าง ทางสอท.กำลังหารือกับผู้ประกอบการที่สนใจอยู่ สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฮเทค จังหวัดฉะเชิงเทรา

สำหรับโครงการความร่วมมือนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จะมีกลุ่มผู้ลงทุนภายใต้สภาอุตสาหกรรม ผู้ลงทุนไต้หวัน จีน โดยสนใจพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ส่วนบริษัทนำร่อง ได้แก่ พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (BCP) บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด เอ็นเซิร์ฟ กรุ๊ป และ กลุ่ม ปตท.

ทั้งนี้ มีรายงานว่า การลงทุนทำโรงงานสร้างระบบกักเก็บพลังงาน ต้องใช้เงินลงทุน 2 พันล้านบาท ต่อ 1 กิกะวัตต์ ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากกลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าว มีแนวโน้มพัฒนาขนาดกำลังการผลิตรวมกันเกิน 50 กิกะวัตต์ ทำให้เงินลงทุนเบื้องต้นเกิน 1 แสนล้านบาท

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “อีอีซี” ถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนทั้งรายใหม่และรายเก่าที่จะได้รับการส่งเสริมธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ผลิตแบตเตอรี่ ที่ให้ความสนใจจะเข้ามาตั้งโรงงานเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

“จากนโยบายสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล ทำให้มีผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหม่สนใจเข้ามาลงทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนหน้าใหม่ๆ หันไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านกันหมด และเมืองไทยแทบไม่มีการลงทุน

จากรายใหม่เลย แต่หลังจากมีโครงการอีอีซี พบว่าสามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาได้เป็นจำนวนมาก”

คาดว่าในปี 2562 จะได้เห็นการลงทุนอย่างแท้จริง อันสอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆจะแล้วเสร็จในปี 2563 ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้จะรวดเร็ว เพราะหากช้าก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันออกไป

รายงานจากบลูมเบิร์ก นิว เอเนอร์ยี ไฟแนนซ์ (บีเอ็นอีเอฟ) คาดการณ์ว่าตลาดแบตเตอรีอาจจะมีมูลค่ามากถึง 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2583 โดยได้รับอานิสงส์จากต้นทุนการผลิตที่ลดตํ่าลง และผู้ผลิตเล็งเห็นโอกาสในการทำเงินจากแหล่งรายได้ใหม่

บีเอ็นอีเอฟคาดว่าภายในปี 2583 อุตสาหกรรมดังกล่าวจะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการกักเก็บและจ่ายพลังงาน 759 กิกะวัตต์-ชั่วโมง จากประมาณ 400 เมกะวัตต์-ชั่วโมงในปัจจุบัน

เอ็นอีเอฟคาดการณ์ว่า ต้นทุนการผลิตแบตเตอรีลิเธียม-ไอออนจะอยู่ที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงภายในปี 2573 เทียบกับต้นทุนกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปัจจุบัน

นักวิจัยประเมินว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะทำยอดขายได้ 41 ล้านคัน ในปี 2583 หรือเพิ่มขึ้นจากในปี 2558 ประมาณ 90 เท่า ต้นทุนที่ลดตํ่าลงจะช่วยให้แบตเตอรีกลายมาเป็นหนึ่งในทางเลือกของการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตลาดอุปกรณ์กักเก็บไฟฟ้าสำหรับใช้ในด้านสาธารณูปโภคจะเป็นตลาดเกิดใหม่สำหรับแบตเตอรี เหมือนเช่นที่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนตลาดเมื่อ 5 ปีก่อน