สืบเนื่องจากข่าวที่เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บังคับใช้ ม.57 พระราชกำหนดการประมง 2558 เพื่อยับยั้งการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน เนื่องจากเครื่องมือทำการประมงในประเทศไทยมีหลายชนิด และทุกชนิดมักมีสัตว์น้ำขนาดเล็กติดมาด้วย นั้น
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่ากรมประมงมีการกำหนดแนวทางในการควบคุมการทำการประมง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการประมงสามารถลดอัตราการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ไว้หลายมาตรการ
ประการที่ 1. การกำหนดช่องตาอวนก้นถุงของเครื่องมือทำการประมงอวนลาก เนื่องจากเครื่องมืออวนลากเป็นเครื่องมือทำการประมงที่มีการจับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิด ละขนาดของสัตว์น้ำ ขนาดความกว้างของช่องตาอวนก้นถุงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลโดยตรงกับขนาดของสัตว์น้ำที่จับได้ ดังนั้นการกำหนดขนาดช่องตาอวนก้นถุงไว้ที่ 4 ซม. เพื่อที่จะให้สัตว์น้ำขนาดเล็กสามารถหลุดรอดไปได้
ประการที่ 2. การกำหนดแนวเขตหรือระยะของการห้ามทำการประมงบางชนิด เนื่องจากสัตว์น้ำขนาดเล็กจะมีการเลี้ยงตัวในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล ปัจจุบันมีการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นเครื่องมืออวนลาก อวนล้อมจับ และเครื่องมืออื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำการประมงในเขตชายฝั่ง โดยขณะนี้ในแต่ละจังหวัดจะกำหนดไว้ที่ระยะ 3 ไมล์ทะเล
และประการที่ 3 การกำหนดห้ามจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่กำหนดขึ้นเรือประมง ซึ่งหมายถึงการพบชนิดสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่าที่มีการประกาศกำหนดในเรือประมงลำใดนั้น ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการกำหนดในลักษณะนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากมิได้มีองค์ประกอบในเรื่อง ขนาดเรือ หรือ ประเภทเครื่องมือทำการประมง อีกทั้ง สัตว์น้ำขนาดเล็กชนิดที่กำหนดอาจมีการจับได้โดยบังเอิญได้ตลอดหรือการติดอวนประมงขึ้นมาโดยมิได้ตั้งใจทั้งเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ ประกอบกับกฎหมายก็มิไห้อำนาจในการกำหนดจำนวนหรือองค์ประกอบของสัตว์น้ำขนาดเล็กที่จะสามารถนำขึ้นเรือประมงได้ จึงทำให้ยากในการบังคับใช้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การบังคับใช้ในกรณีดังกล่าวกรมประมงจะได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถึงความเหมาะสมและวางแนวทางให้ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อนำมาบังคับใช้กับชาวประมง