ส่งออก ‘ข้าวอินทรีย์’ รุ่ง ราคาแซงหอมมะลิ 40%

07 มิ.ย. 2561 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2561 | 16:40 น.
เอกชนจี้รัฐเร่งส่งเสริมปลูกข้าวอินทรีย์ ลุยตลาดอียู ชี้ศักยภาพสูง ราคาดีกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปถึง 40% จับตาเวียดนาม-จีนแซงหน้าไทยฝรั่งเศสตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานแล้ว ขณะไทยมีผลผลิตหลักหมื่นตันต่อปียันไม่ง่ายหลังพื้นที่ปลูกยังใช้สารเคมีมาก

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ ผู้บริหารของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ร่วมคณะกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เดินทางสำรวจตลาดข้าวในประเทศฝรั่งเศสและสเปนช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าตลาดข้าวอินทรีย์ (ข้าวที่ผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดหรือสารสังเคราะห์ต่างๆ และปุ๋ยเคมีในทุกขั้น) ในฝรั่งเศสมีสัดส่วนเพียง 5% ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด และมีช่องทางในการจำหน่ายเฉพาะที่ร้านจำหน่ายสินค้าอินทรีย์เท่านั้น และร้านค้านั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อรับรองว่าสินค้าที่นำมาจำหน่ายผ่านมาตรฐานตามที่ที่ภาครัฐกำหนด

[caption id="attachment_287893" align="aligncenter" width="503"] ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ชูเกียรติ โอภาสวงศ์[/caption]

ทั้งนี้ตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในฝรั่งเศสยังโตค่อนข้างช้า จากผู้บริโภคมองว่ามีราคาแพงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปถึง 30-40% แต่ก็ถือว่ายังโตอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นการส่งออกข้าวอินทรีย์ของไทยมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายต้องมีการศึกษาและผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ประกอบกับพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ของไทยมีเพียง 2% (ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 70 ล้านไร่) เท่านั้นถือว่าน้อยมาก

“ข้าวอินทรีย์มีโอกาสทางการตลาดที่ดี สิ่งสำคัญคือมาตรฐานของข้าวซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเข้มงวดมาก ซึ่งทางฝรั่งเศสเองยังไม่มาตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ของไทย แต่ตั้งแล้วที่จีนและเวียดนามซึ่งเขามองข้าวอินทรีย์ของ 2 ประเทศนี้ดีกว่าไทย  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐในการส่งเสริม รวมไปถึงสภาพของพื้นดินที่จะปลูกข้าวอินทรีย์ที่ต้องมีการปฏิรูปและปรับสภาพดินซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี เพราะพื้นดินไทยใช้สารเคมีมาก ปัจจุบันผลผลิตข้าวอินทรีย์ของไทยยังหลักหมื่นตันต่อปี”

[caption id="attachment_287896" align="aligncenter" width="503"] ชุติมา บุณยประภัศร ชุติมา บุณยประภัศร[/caption]

ด้านนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำภาคเอกชนพบปะเจรจาแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านตลาดสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ รวมทั้งการตรวจรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของสเปนและฝรั่งเศส ตลอดจนแนวทางในการร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับสากลอย่างเช่น ECOCERT เพื่อผลักดันให้ไทยสามารถอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่สหภาพยุโรป (อียู) ยอมรับว่ามีระบบการผลิตและการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่เท่าเทียมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและขยายโอกาสการส่งออกข้าวอินทรีย์ไทยเข้าสู่ตลาดอียูเพิ่มมากขึ้น

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,371 วันที่ 3-6 มิถุนายน 2561