"เทศบาลเมืองป่าตอง" ขอปรับผังเมืองรับพัฒนา "ไมซ์"

06 มี.ค. 2562 | 06:42 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2562 | 08:36 น.

"เทศมนตรีเมืองป่าตอง" จ.ภูเก็ต ผนึก 'ทีเส็บ' และสมาคมการผังเมืองไทย ประกาศกฎบัตรป่าตอง ยกระดับเป็น "ศูนย์กลางไมซ์ระดับประเทศ" เสนอเปลี่ยนผังเมือง หวังฟื้นเศรษฐกิจ 6 พันล้านบาทต่อปี

น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตอง โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สมาคมการผังเมืองไทย สมาคมโรงแรมหาดป่าตอง และภาคส่วนการท่องเที่ยวป่าตอง ขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม
 

\"เทศบาลเมืองป่าตอง\" ขอปรับผังเมืองรับพัฒนา \"ไมซ์\"


โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ด้าน คือ 1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไมซ์และการท่องเที่ยวของเมืองป่าตอง 2) การปรับปรุงฟื้นฟูระบบทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานเมืองป่าตองให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจใจกลางไมซ์ (Patong MICE Special District) 3) การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการศูนย์ประชุม โรงแรม ร้านอาหาร บริการสุขภาพขนส่ง และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ให้ได้ตามมาตรฐานของทีเส็บ และสุดท้าย ได้แก่ การปรับปรุงตำแหน่งทางการตลาด เพื่อให้ป่าตองได้รับการจดจำเป็นศูนย์กลางไมซ์ไทย เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร

สำหรับวัตถุประสงค์ข้อแรก การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจะพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขผังเมืองรวมภูเก็ต เพื่อให้รองรับการลงทุนศูนย์การประชุมขนาดใหญ่และโรงแรม ซึ่งเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา เทศบาลได้ร่วมกับทีเส็บและสมาคมการผังเมืองไทยจัดประชุม "ปฏิบัติการกฎบัตรป่าตอง" เพื่อประกาศยุทธศาสตร์ป่าตองเป็นใจกลางศูนย์เศรษฐกิจไมซ์ โดยมีหลายภาคส่วนสนใจเข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนจากสมาคมโรงแรมและผู้ประกอบการค้าปลีก ได้กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญของการลงทุนในเมืองป่าตอง ซึ่งได้แก่ ผังเมืองรวม และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารในพื้นที่ได้สูงสุด 23 เมตร หรือ ก่อสร้างอาคารได้ไม่เกิน 7 ชั้น และไม่สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เช่น ศูนย์การประชุมและอาคารค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เปลี่ยนสถานที่ลงทุนไปยังประเทศอื่น
 

\"เทศบาลเมืองป่าตอง\" ขอปรับผังเมืองรับพัฒนา \"ไมซ์\"


ทั้งนี้ จากการหารือ ที่ประชุมได้มีมติให้เทศบาลเมืองเสนอจังหวัด กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและประกาศคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษในระยะ 150 เมตรนับจากชายหาด และสามารถสร้างในความสูงอาคารในพื้นที่เกินกว่า 200 เมตรจากชายหาดที่ 60 เมตร และระยะ 400 เมตร สามารถสร้างสูงได้ 90 เมตร อนุญาตให้ประกอบกิจการศูนย์ประชุมรองรับได้ 5 หมื่นคน เพื่อให้ป่าตองสามารถรองรับกิจกรรมการประชุมขนาดใหญ่ สอดคล้องจำนวนห้องพักของโรงแรมต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
 

\"เทศบาลเมืองป่าตอง\" ขอปรับผังเมืองรับพัฒนา \"ไมซ์\"


"จากการประมาณการของเทศบาล พบว่า หากสามารถแก้ไขผังเมือง โดยให้สามารถเพิ่ม FAR ได้ 14 เท่า เฉพาะพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจไมซ์ใจกลางเมือง ขนาดประมาณ 400 ไร่ จะสามารถให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากถึง 6 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้เทศบาลได้รับภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี"

โดยในส่วนของการปรับปรุงฟื้นฟูกายภาพเมืองป่าตองนั้น เทศบาลจะร่วมมือกับโครงการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและสมาคมการผังเมืองไทยออกแบบฟื้นฟูถนนสายเลียบหาดและซอยบางลา ในงบประมาณปี 2562 และในงบปี 2563 จะปรับปรุงถนนอีก 3 เส้นทาง เพื่อเปลี่ยนเป็นถนนแห่งการเดิน (Walkable City) พร้อมทั้งการฟื้นฟูถนนเขียวด้วยต้นไม้ใหญ่ในถนนสายหลักและสายรอง โดยใช้ต้นไม้ใหญ่จำนวน 500 ต้น ซึ่งจะทำให้ป่าตองมีพื้นทีสีเขียวด้วยทรงพุ่มไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2563

นอกจากนั้น ในเดือน มี.ค. 2562 เทศบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตอง เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นเมืองไมซ์ โดยจะนำแผนงานโครงการปรับปรุงกายภาพเมืองบรรจุลงสู่แผนยุทธศาสตร์ 4 ปีของเทศบาล ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนไม่น้อยกว่า 60% เป็นงบการออกแบบปรับปรุงป่าตองเป็นเมืองไมซ์และเมืองแห่งการเดิน

ด้าน นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการ SG-ABC กล่าวว่า โครงการได้วิเคราะห์ข้อมูลการใช้ที่ดินของหาดป่าตองในปี 2561-2562 พบว่า การใช้ที่ดินในย่านพาณิชยกรรมยังไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากถูกกำหนดชนิดประเภทและความสูงอาคาร โดยอาคารยังขยายตัวแนวราบ พื้นที่อาคารคลุมดินมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ ที่ว่างและพื้นที่สีเขียวลดลง

สำหรับผลการทดสอบมูลค่าเศรษฐกิจด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้วยการกำหนด FAR ระดับต่าง ๆ พบว่า พื้นที่เมืองป่าตองควรกำหนดค่า FAR ไม่น้อยกว่า 12 เท่า โดยพื้นที่โซนที่ 8 ตามประกาศควบคุมสิ่งแวดล้อมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ที่ดินของเมืองป่าตองระยะนับจากพื้นที่น้ำท่วมถึงสูงสุด 300 เมตร ควรอนุญาตความสูงไม่น้อยกว่า 75 เมตร

"แนวทางที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจไมซ์ป่าตอง ต้องปรับปรุงผังเมืองรวมตามแบบของประเทศสิงคโปร์และเมืองฮ่องกง ซึ่งอนุญาตให้อาคารขยายตัวแนวตั้ง หรือ มีความสูงมากขึ้น โดยบังคับให้มีพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวมากขึ้น อาคารสูงที่ได้มีขนาดอาคารมากขึ้นจะสามารถรองรับกิจกรรมเศรษฐกิจไมซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมืองจะลดการขยายตัวแนวราบ"

\"เทศบาลเมืองป่าตอง\" ขอปรับผังเมืองรับพัฒนา \"ไมซ์\"