กรอ.ดึงพันธมิตร 8 องค์กรทำงานบูรณาการ ร่วมกันพิจารณาการอนุญาตนำเข้า และติดตามสารไซเดียมไซยาไนด์ หวั่นลักลอบไปผลิตยาเสพติด
นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.ได้ทำการหารือร่วมกับ 8 หน่วยงาน และประสานความร่วมมือแนวทางการกำกับดูแลสารโซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ในการเพิ่มมาตรการควบคุมดูแลวัตถุอันตรายที่เข้มงวดโดยเริ่มจากสารโซเดียมไซยาไนด์ เพื่อเป็นการสกัดกั้นการนำไปใช้ผลิตยาเสพติดตั้งแต่ต้นทางอย่างเร่งด่วน และทันท่วงที เนื่องจากในปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบนำสารดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จำนวนมาก เบื้องต้นที่ประชุมได้ประสานการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันในทุกๆด้าน เพื่อป้องกันการนำสารดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น การประสานข้อมูลเกี่ยวข้อง, การร่วมกันตรวจสอบข้อมูลการนำเข้า การส่งออก และการผ่านแดนที่เข้มงวด
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกันให้ความเห็นมายังกรอ.เป็นรายกรณีที่จะมีการนำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์เข้ามาในไทยหรือผ่านแดนไปประเทศที่3 ซึ่งอาจใช้เวลา 5-10 วัน แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน ว่าจะมีการอนุญาตให้นำเข้าหรือผ่านประเทศไทยได้หรือไม่ เนื่องจากหน่วยงานต่างๆจะมีข้อมูลที่เชื่อมทั้งในและต่างประเทศได้ เป็นต้น
สำหรับ 8 หน่วยงานประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย, กรมการปกครอง, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมศุลกากร
“สารโซเดียมไซยาไนด์ สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท และนิยมใช้ในการสกัดทองในเหมืองทองคำ รวมถึงนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท เช่น การย้อมสี การเพิ่มความแข็งให้กับเนื้อโลหะ การชุบโลหะในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่อีกทางหนึ่งสามารถนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดได้ด้วย ซึ่งประเด็นนี้น่ากังวลอย่างมาก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการนำเข้าสารดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยปีละ 1,400-1,500 ตัน ซึ่งน้อยกว่าที่จะมีการขออนุญาตนำผ่านประเทศไทยไปสปป.ลาวหรือไปประเทศเมียนมาร์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้มากจะเป็นเหมืองทองแต่ปัจจุบันเหมืองทองได้ปิดไปแล้วจึงมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยไม่มาก โดยในปี 62 มีการขออนุญาตนำเข้า 53 ตัน แต่มีการนำเข้าจริง 15 ตันเท่านั้น”
นายบรรจง กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ผลิตยาเสพติด ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศกระทรวงยุติธรรมมี 20 รายการ โดยหนึ่งใน 20 รายการคือ สารโซเดียมไซยาไนด์ ซึ่ง กรอ.และพันธมิตรทั้ง 8 หน่วยงานก็พร้อมนำร่องในการออกมาตรการดูแลและคุมเข้มการนำเข้า การส่งออก และการผ่านแดนก่อน จากนั้นก็จะดำเนินการกับสารอีก 19 ประเภทในลักษณะที่คล้ายๆกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสารดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ต่อไป