โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ ในพื้นที่วังจันทร์ วัลเลย์ จังหวัดระยอง บนเนื้อที่กว่า 3 พันไร่ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมหรือฮับอินโนเวชัน ของประเทศก็ว่าได้ ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเป็นเมืองใหม่อัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี ที่จะนำตัวอย่างการพัฒนาของเมืองเอสเพน (Aspern) ประเทศออสเตรีย และเมืองเกรโนเบิล (Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส มาเป็นรูปแบบการพัฒนา
เมืองต้นแบบสมาร์ทซิตี
จากการเยือนของทั้ง 2 ประเทศนี้ ทำให้เห็นภาพการพัฒนาเมืองใหม่เอสเพน ที่มีการออกแบบให้เป็นเมืองอัจฉริยะ บนที่ดินของรัฐเนื้อที่ 1,500 ไร่ ในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนด้วยเงินลงทุนสูงถึง 5 แสนล้านบาท ที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2550-2570 เพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย ใกล้แหล่งทำงาน มีสำนักงานการให้บริการทางธุรกิจหรือพื้นที่ให้เอสเอ็มอีเข้ามาลงทุน รวมทั้งมีศูนย์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย พื้นที่การค้าและย่านพาณิชยกรรม และแบ่งให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สำหรับสาธารณประโยชน์และสันทนาการ มากกว่า 50% ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานได้แล้วกว่า 30% ในพื้นที่ 625 ไร่ มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ราว 7 พันคน และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 3 หมื่นคน
สำหรับพื้นที่นี้มีจุดเด่นในการจัดสรรพื้นที่เป็นแบบมิกซ์ยูส ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาใช้ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาอาคาร รวมถึงพลังงานลม และนำหลักการประกวดการใช้ไฟฟ้าของแต่ละที่อยู่อาศัย ลดการใช้ไฟฟ้าให้ตํ่ากว่ากำลังการผลิต เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงมีระบบรางรถไฟฟ้า และรถโดยสาร ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐใช้ตั๋วราคาถูก เพื่อเชื่อมการเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว
นำ 4 เทคโนโลยีเป็นโมเดล
ขณะที่เกรโนเบิล เป็นที่ตั้งของหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ของบริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่ร่วมกับเทศบาลเมืองเกรโนเบิล บริษัทเอกชน สถานศึกษา และภาคประชาชน เป็นเมืองนำร่องในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำมาสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ของฝรั่งเศสหรือสมาร์ทซิตี ที่เป็นแหล่งรวมศูนย์การวิจัยและพัฒนาการศึกษาหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ร้านค้า และที่อยู่อาศัย อย่างครบวงจร มีประชากรอยู่ราว 5 แสนคน แต่มีนักนวัตกรรมประมาณ 6.5 หมื่นคน และนักวิจัยราว 2 หมื่นคน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ นาโนอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม เคมีภัณฑ์ ดิจิทัล และสุขภาพ เช่น ชีวศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคต
การเป็นสมาร์ท ซิตีในเมืองนี้ มีการนำ 4 เทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนา ประการแรก ระบบรางของรถไฟฟ้าที่มีการเชื่อมต่อในการเดินทาง ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อลดปัญหามลพิษที่เกิดจากการขนส่ง เพื่อให้เกิดการใช้รถส่วนตัวให้น้อยที่สุด หรือการพัฒนาไปสู่รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจนและไบโอชีวภาพ 2.การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพด้วยการนำพลังงานมาหมุนเวียนใช้ให้ได้อย่างคุ้มค่า 3.การบริหารจัดการเพื่อมลพิษทางอากาศ และ 4.การบริหารจัดการขยะและของเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ปตท.เล็ง 3 พื้นที่นำร่อง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาสมาร์ทซิตีของกลุ่มปตท.จะมีอยู่ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่อีอีซีไอ พื้นที่ศูนย์กลางบางซื่อ และมิกซ์ยูส 70 ไร่ ริมถนนวิภาวดีรังสิต จะนำจุดเด่นของสมาร์ทซิตีของทั้ง 2 เมืองนี้ไปเป็นรูปแบบในการพัฒนา ซึ่งขณะนี้พื้นที่อีอีซีไออยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเป็นสมาร์ทซิตีแล้ว คาดจะแล้วเสร็จในปี 2564 ด้วยงบลงทุนราว 3 พันล้านบาท
ขณะที่พื้นที่ศูนย์กลางบางซื่ออยู่ระหว่างรอผลสรุปขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะหารือกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ว่าจะให้ปตท.เข้าไปร่วมมือกันอย่างไรเพราะถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำสมาร์ทซิตี เนื่องจากมีระบบรางเชื่อมถึง เช่นเดียวกับพื้นที่มิกซ์ยูส 70 ไร่ ที่อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ราวปีหน้า ด้วยงบลงทุนราว 5,000-10,000 ล้านบาท
ดังนั้น ด้วยความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย จะทำให้การพัฒาเมืองใหม่อัจฉริยะของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก้าวขึ้นสู่ระดับประเทศพัฒนาได้
รายงานโดย โต๊ะข่าวอีอีซี
หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3484 วันที่ 4 - 6 กรกฎาคม 2562