คมนาคม ดันโปรเจ็กต์ ล็อตใหญ่เข้าครม. ประยุทธ์ 2 ไฟเขียว เร่งประมูล รฟท.ลุยทางคู่ ชูความคุ้มค่า เร่งออกพ.ร.ฎ.เวนคืนทางคู่สายใหม่ “บ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม” ต่อจาก “เด่นชัย-เชียงราย- เชียงของ ยกระดับการเดินทาง-ขนส่งสินค้าเชื่อมเพื่อนบ้าน
แผนเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานรัฐมีหลายโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องขับเคลื่อน ทั้งทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ยังติดปัญหาการอนุมัติการขอปรับเพิ่มงบประมาณเวนคืนใหม่ และระบบขนส่งทางราง ที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน ตลอดจนการขนส่งสินค้าเพื่อภายในประเทศและเพื่อนบ้าน อย่างสปป.ลาว
ทั้งนี้ รถไฟทางคู่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องออกพระราช กฤษฎีกาเวนคืน ภายหลังผ่านความ เห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดประยุทธ์ 1 แต่มีความล่าช้า ได้แก่ โครงการก่อสร้าง รถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม และทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ล่าสุดได้ผลัก ดันโครงการต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศให้กระจายออกภูมิภาค
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภายหลังจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมเส้นทางสายใหม่ ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ชุดที่ผ่าน มา ล่าสุด รฟท.อยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เวนคืน เนื่องจากเป็นเส้นทางใหม่ตลอดแนว ระยะทาง 355 กิโลเมตร เช่นเดียวกับทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่ยังออกพ.ร.ฎ.ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งต้องเร่งรัดต่อไป ทั้งนี้ทั้ง 2 เส้นทาง มีที่ดินถูกกระทบจากการเวนคืน กว่า 10,000 แปลง
แหล่งข่าวจาก รฟท.เสริมว่า รถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม- ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่า 66,848.33 ล้านบาท กระทบที่ดินประชาชนส่วนใหญ่เป็นเรือกสวนไร่นาพื้นที่ว่าง จำนวน 7,100 แปลง หรือ 1.74 หมื่นไร่ สิ่งปลูกสร้าง 930 หลังคาเรือน ซึ่งรฟท.ตั้งงบประมาณชดเชยไว้ 10,255 ล้านบาท คาดว่าปี 2563 พ.ร.ฎ.เวนคืนจะประกาศใช้
จะเริ่มดำเนินการทันที เช่นเดียวกับ รถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 367 กิโลเมตร มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการเวนคืน 7,000 แปลง หรือ 9,600 ไร่ สิ่งปลูก สร้าง 1,200 หลังคาเรือน รวม พื้นที่เวนคืนทั้งหมด 2.7 หมื่นไร่ คาดว่าปลายปีนี้พ.ร.ฎ.น่าจะประกาศ ได้ทันต่อจากนั้นน่าจะเริ่มกระบวน การประกวดราคาปี 2563
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง ความพร้อมโครงการตามแผนพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานได้แก่ รถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 66,848 ล้านบาท
“จัดเป็นรถไฟเส้นทางใหม่ที่แยกมาจากช่วงจุดสถานีบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ล่าสุดผ่านอีไอเอและครม.เห็นชอบพ.ร.ฎ.เวนคืนพร้อมที่จะพิจารณาให้เปิดประมูลได้ทันที”
เช่นเดียวกับโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-นคร ราชสีมา สัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) ได้ตกลงในกรอบวงเงิน 50,633 ล้านบาทซึ่งสูงกว่ากรอบที่ครม. อนุมัติไว้ 3.85 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่ที่เพิ่มอีกจำนวน 9,000 ล้านบาทจากเดิม 5,000 ล้านบาทนั้นกรมทางหลวงอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.เพื่อให้การก่อสร้างสามารถดำเนินการต่อไปได้เนื่องจากหลายสัญญาได้ตัวผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการส่งมอบพื้นที่ให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างเท่านั้น
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ต่อไปนั้นมี 2 แนวทาง คือ การร่วมลงทุนตามนโยบายคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) และแนวทางที่รัฐตั้งบริษัทรูปแบบโฮลดิ้งเพื่อไปขับเคลื่อนโครงการต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาพื้นที่ต่างๆที่จะต้องร่วมกับท้องถิ่นพัฒนาโครงการต่างๆให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุน
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า เร่งผลักดันโครงการโดยเสนอครม.พิจารณา โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) มูลค่า 260,000 ล้านบาท ได้แก่ มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ มอเตอร์เวย์หาดใหญ่- ชายแดนมาเลเซีย ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ฯลฯ
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3494 ระหว่างวันที่ 8 - 10 สิงหาคม 2562