“สนธิรัตน์” ตั้งทีมเคลียร์ปมร้อนนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันของ กฟผ.เล็งล้มประมูล วงในระบุไม่มีความจำเป็น สร้างภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้ากว่า 1 แสนล้านบาท กระทบค่าไฟฟ้าพุ่ง 2.1-2.4 สต./หน่วย จับตา กลางก.ย.นี้ ชงกพช.ชี้ขาด
การประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1.5 ล้านตัน โดยบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจีฯ จากมาเลเซีย เสนอในราคาตํ่าสุด จากจำนวนผู้ยื่นประมูล 12 ราย ซึ่งทางกฟผ.จะต้องเสนอให้กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)พิจารณาอนุมัติ เพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญาและมีการนำเข้าตามแผนในเดือนกันยายน 2562 นั้น
ล่าสุดนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตั้งทีมงานมาพิจารณาเรื่องนี้แล้ว และได้ให้โจทย์กฟผ.ไปจัดทำรายละเอียดตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า กฟผ.จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและทำให้ประเทศเป็นผู้นำแอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้ ได้อย่างไร โดยให้เสนอกลับมาพิจารณาภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ปตท. กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) มาหารือเกี่ยวกับการนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปีของกฟผ.แล้ว ว่ามีความจำเป็นต้องนำเข้าหรือไม่ เนื่องจากแผนเดิมจะต้องลงนามในสัญญาและนำเข้าล็อตแรกได้ในเดือนกันยายนนี้ ในปริมาณส่งมอบ 2.8 แสนตัน จากนั้นในช่วงปี 2563-2569 จะเป็นการนำเข้าเต็มอัตราตามเงื่อนไขสัญญาระยะยาว 8 ปี คิดเป็นมูลค่ารวมซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ การนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี แม้ว่าจะ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ต้องการทดสอบเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อให้มีการแข่งขัน แต่นายสนธิรัตน์ก็มีความกังวลว่าจะกระทบกับค่าไฟฟ้าที่จะตามมา จากการนำเข้าที่เกินความจำเป็น โดยกกพ.รายงานว่า การนำเข้าแอลเอ็นจีของกฟผ.เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของตัวเอง จะส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยราคาก๊าซ สำหรับผลิตไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น จะกระทบต้นทุนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.1-2.4 สตางค์ต่อหน่วย
อีกทั้ง สนพ.เห็นว่าผลกระทบอาจจะเกิดภาระ Take or Pay ที่จะต้องไปลดปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีของปตท.ที่มีอยู่ในสัญญาลงมา ซึ่งพบว่า ในปี 2562-2563 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ในสภาวะสมดุลกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติขั้นตํ่าที่มีอยู่ในสัญญาของปตท.ที่ 5.2 ล้านตันแล้ว ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีนี้ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีแต่อย่างใด
“ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งนำเข้า เพื่อมาเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชน และการทดลองเปิดเสรีนำเข้าเพื่อการแข่งขัน ทำไมต้องเป็นกฟผ.ทั้งที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ แต่เข้าใจได้ว่าเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนก่อนที่ผลักดันเรื่องนี้จนนำไปสู่การเปิดประมูล ทั้งที่กฟผ.ไม่อยากดำเนินงาน ดังนั้น การจะยกเลิกการนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี บนพื้นฐานของการทดลองเปิดเสรี และทำให้ค่าไฟฟ้าแพงก็ไม่เป็นการสมควร”
แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้จะมีการเร่งรัดเข้าสู่การประชุมกบง.ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ และหลังจากนั้นจะนำเสนอให้กพช.ชี้ขาดต่อไปในช่วงกลางเดือนกันยายน 2562
แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมล่าสุดที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังไม่ได้สรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ก็มีแนวทางคร่าวๆ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งการนำเข้าแอลเอ็นจีจะมีเพียง 1.2 ล้านตันต่อปีเท่านั้น และค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาจะเกิดขึ้นในปี 2562-2563 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.9 พันล้านบาท เท่านั้น เมื่อเทียบกับการนำนํ้ามันปาล์มดิบหรือซีพีโอไปในโรงไฟฟ้า 3.6 แสนตัน จะกระทบต่อต้นทุนค่าเชื้อเพลิงราว 4.5 พันล้านบาท
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,499 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562