สอน. จับมือ สถาบันพลาสติก เปิดตัวแก้วพลาสติกชีวภาพจากอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า จากการส่งเสริมของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยส่งเสริมให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรม โดย สอน. ได้ร่วมมือกับสถาบันพลาสติก พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากพืชเศรษฐกิจของไทยอย่าง “อ้อย” ให้สามารถแปรรูปเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ แก้วน้ำพลาสติกชีวภาพ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำในอีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จากเดิมที่อ้อยสามารถผลิตได้เพียงน้ำตาลเท่านั้น ให้สามารถพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ จึงได้จัดกิจกรรมเปิดตัวแก้วพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและน้ำตาลทรายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนใช้กันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบันคนไทยตระหนักถึงปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่มาตลอดหลายสิบปี โดยปริมาณการใช้ในแต่ละปีที่ผ่านมาได้สร้างขยะให้เกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่าง ถุงหูหิ้ว หลอด และแก้วน้ำพลาสติกที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วไป
“ในวันนี้(28ส.ค.)เราต้องการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง จึงนำแก้วพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านการออกแบบอย่างสวยงามและพร้อมใช้งาน นำมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และรณรงค์ ลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยากมาเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายขึ้น”
วรวรรณ ชิตอรุณ
ด้านนายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงาน ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จากเดิมที่อ้อยสามารถผลิตได้เพียงน้ำตาลให้สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น อย่างการนำไปผลิตเป็น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ในหลายรูปแบบ อาทิ จาน ชาม แก้วน้ำพลาสติก และหลอดพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย ภายใต้การผลักดันของภาครัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมของไทยมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลก และยังเป็นการยกระดับศักยภาพของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย รวมถึงปัจจุบันทิศทางของผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีเขียวที่เริ่มเป็นกติกาสากลของโลก ส่งผลให้ในหลาย ๆ ประเทศต่างกำหนดมาตรการต่าง ๆ ออกมา เพื่อลดปัญหาเรือนกระจกและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น