สะเทือน! เหนือ อีสาน /3 จ.ชายแดนใต้ “ธีระชัย” โวยรัฐประกันราคาน้ำยางก้อนถ้วย 23 บาท/กก. ทิ้งห่างยางแผ่นดิบ-น้ำยางสดไม่เห็นฝุ่น ทั้งที่เปอร์เซ็นต์ชาวสวนผลิตกว่า 55% มากกว่า 2 ชนิด ราคาต่ำติดดิน แนะประกันไม่ควรต่ำกว่า 30 บาท/กก.อีกด้านเครือข่ายฯยื่นหนังสือ “เฉลิมชัย” ขอแก้ระเบียบ กยท. ใช้ใบรับรองสิทธิทำกินพื้นที่กว่า 3 ล้านไร่ ขึ้นทะเบียนได้
โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง (ระยะที่ 1) เป้าหมาย : เกษตรกรชาวสวนยางได้รับการประกันรายได้จากการจำหน่ายยางพารา รายละไม่เกิน 25ไร่ จำนวนไร่ กว่า 17.2 ล้านไร่ เกษตรกร 1.4 ล้านราย คนกรีด 299,235 ราย จ่าย 2 เดือนครั้ง ตั้งแต่เดือน ต.ค.62-เม.ย.63 จะมีการประกันรายได้ ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม ประกันรายได้ราคาน้ำยางสด(DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม ประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย(DRC 50%)23 บาท/กิโลกรัม
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.ระดับประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ ( 16 ก.ย.2562) ราคาน้ำยางก้อนถ้วย 17-18 บาท/กิโลกรัม มีเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผลิตคิดเป็นกว่า 55% ของประเทศ แต่กลับนำยางแผ่นดิบมาเป็นตัวตั้งที่มีเกษตรกรผลิตแค่กว่า 10% ที่เหลือก็เป็นน้ำยางสด ทำให้พี่น้องที่ผลิตยางก้อนถ้วยไม่พอใจ และไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะราคาต่างกันเกินไปในชนิดยาง 3 ประเภท อย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 30 บาท/กิโลกรัม ดังนั้นหากรัฐบาลจะทำโครงการจะต้องผลักดันให้กับคนส่วนใหญ่มากกว่า แต่ฝ่ายรัฐก็อ้างว่าในการจ่ายครั้งนี้ให้บัตรสีชมพูด้วยก็จำเป็นต้องถัวเฉลี่ยจ่าย
“ผมว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะไม่ว่าจะจ่ายบัตรสีชมพูหรือสีเขียวก็ต้องเท่ากัน ส่วนใหญ่ที่มาทำก้อนถ้วยเพราะมีปัญหาเรื่องแรงงาน ไม่มีเงินที่จะลงทุนทำยางแผ่น ซึ่งใน 2 ชนิดยางที่รัฐประกันรายได้โอเคแล้ว แต่น้ำยางก้อนถ้วยควรจะขยับราคาประกันใหม่ เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์อยากได้ผลงานและอยากได้เสียงของพี่น้องชาวสวนยางจริงโดยไม่ต้องคิดอะไรมากควรที่จะเอาคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง เลียนโมเดลรัฐบาลที่แจกเงินคนจน”
ด้านนายสวัสดิ์ ลาดปาละ รองประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.ระดับประเทศ และประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดลำปาง เผยว่า ยอมรับประกันรายได้ในครั้งนี้ภาคเหนือเสียเปรียบ ทำน้ำยางก้อนถ้วย แต่ก็ต้องยอมแลกเพื่อให้บัตรสีชมพูเข้าร่วมด้วย เข้าใจรัฐบาลมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอแต่อีกด้านหนึ่งได้ยื่นหนังสือกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (13 ก.ย.62)เพื่อขอให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)แก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการเกษตรกรให้ขึ้นทะเบียนกับ กยท.โดยให้ใช้ใบรับรองสิทธิทำกินประกอบการพิจารณา ซึ่งปัจจุบันนี้กรมอุทยานแห่งชาติได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นั้นมีจำนวนเกษตรกร 2.82 แสนราย พื้นที่ 3.8 ล้านไร่ ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้