ผังอีอีซี8ล้านไร่บูมศก. ดันจีดีพี10ล้านล้าน

03 ต.ค. 2562 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2562 | 06:40 น.

บอร์ดอีอีซี จ่อชง ครม.ไฟเขียวแผนผังใช้ประโยชน์ที่ดิน 8.29ล้านไร่ ภายในต.ค.นี้ รับการพัฒนา 20 ปี หนุนประชากรเพิ่มเป็น 6 ล้านคน สร้างจีดีพี 10 ล้านล้านบาท ยันมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมรองรับการเติบโต

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มาถึงวันนี้เริ่มที่จะเป็นรูปเป็นร่าง และพร้อมจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนา รวมทั้งแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นที่เรียบ ร้อยแล้ว และกำลังนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ประกาศเป็นกฎหมายมีผลใช้บังคับต่อไป

 

เปิดผังใช้ประโยชน์ที่ดิน

ทั้งนี้ แผนผังดังกล่าวกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน 4 กลุ่ม หลัก 11 ประเภท ครอบคลุมพื้นที่ของ 3 จังหวัด รวม 8.29 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 1.09 ล้านไร่ พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 4.24 แสนไร่ พื้นที่เกษตรกรรม 4.87 ล้านไร่ และพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ 1.67 ล้านไร่ รวมทั้งแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค จำนวน 5 แผนผัง 1 มาตรการ นั้น มีการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานการประมาณการทางเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2580) พื้นที่อีอีซีจะรองรับการขยายตัวของประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้นที่ 6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน รองรับนักท่องเที่ยวได้ 55.47 ล้านคน และเกิดการจ้างงาน 2.7 ล้านคน ก่อให้เกิดการเติบโตของจีดีพีประเทศราว 10 ล้านล้านบาท โดยในช่วง5 ปีแรกประมาณการลงทุนราว 1.7 ล้านล้านบาทใน 9 โครงการสำคัญ

 

ยกเลิกผังเมืองปัจจุบัน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้ว ผังเมืองรวมตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเขตพื้นที่อีอีซีปัจจุบันจะถูกยกเลิกไป 15 ผัง และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองไปจัดทำผังเมืองใน 30 อำเภอขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังฯ ที่ครม.เห็นชอบ

สำหรับการใช้ประโยชน์ในที่ดินจะครอบคลุมพื้นที่ 8.29 ล้านไร่ ใน 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท ได้แก่ พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 1.09 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 3.37% กำหนดเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน รองรับการพัฒนาพื้นที่เมืองเดิมและเมืองใหม่ แบ่งเป็น 4 ประเภทได้แก่ ศูนย์กลางพาณิชย กรรม (สีแดง) 9.67 หมื่นไร่ กำหนดไว้บริเวณที่เป็นที่ตั้งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่านธุรกิจการค้า บริการที่ให้บริการ ในระดับประเทศ ภาค และจังหวัด ได้แก่ เมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี เมืองศรีราชา แหลมฉบัง เมืองพัทยา เมืองอู่ตะเภา เมืองระยอง

ประเภทชุมชนเมือง (สีส้ม) 9.81 แสนไร่ เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหลักและแหล่งงาน บริเวณที่เป็นเมืองเดิมและพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะเป็นเมืองในอนาคต เช่น เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เทศบาลเมืองพนมสารคาม เทศบาลเมืองพนัสนิคม เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลนครระยอง และพื้นที่โดยรอบกลุ่มเทศบาลเมืองต่างๆ

ประเภทรองรับการพัฒนาเมือง (สีส้มอ่อนมีจุดสีขาว) กำหนดไว้บริเวณที่ต่อเนื่องกับพื้นที่เมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ได้แก่ พื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบศูนย์กลางหลักระดับอำเภอ และระดับตำบลต่างๆ และประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ (สีนํ้าตาล) มีพื้นที่รวม 18,210 ไร่

 

เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม

ขณะที่พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 4.24 แสนไร่ เพิ่มขึ้น 1.99 % กำหนดให้รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพื่อควบคุมและบริหารจัดการได้ง่าย กำหนดระยะห่างจากพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร จากแม่นํ้า ลำคลอง พื้นที่ชายฝั่งทะเล ไม่น้อยกว่า 500 เมตร แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (สีม่วง) จำนวน 23 เขต มีพื้นที่รวม 9 หมื่นไร่ และที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม (สีม่วงอ่อนมีจุดขาว) 3.34 แสนไร่ เป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากเขตส่งเสริมฯ และเป็นอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยองเป็นหลัก เช่น บริเวณพานทอง อำเภอบางละมุง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีเชื่อมต่อพื้นที่อำเภอปลวกแดง อำเภอนิคมพัฒนา พื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง

นอกจากนี้ เป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม 4.87 ล้านไร่ ลดลง 8.13% แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ที่ดินประเภทชุมชนชนบท (สีเหลืองอ่อน) ลดลงเหลือ 2.07 ล้านไร่ หรือลดลงไปราว 6.7 แสนไร่ เนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งได้รับการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรม และการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม ส่วนที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม (สีเขียวอ่อน) มีพื้นที่รวม 1.1 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานด้านตะวันตกของจังหวัดฉะเชิงเทราต่อเนื่องกับอำเภอพนัสนิคม และอำเภอเมืองระยอง อำเภอแกลง และที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเหลืองมีเส้นทแยงสีเขียว) มีพื้นที่รวม1.66 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในด้านตะวันออกของพื้นที่อีอีซี และพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1.67 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 2.93% ซึ่งเท่ากับว่าจะมีพื้นที่ที่สามารถนำมา
ใช้ประโยชน์ได้จริงราว 6.62 ล้านไร่

 

การใช้ไฟฟ้าเพิ่มเท่าตัว

นายคณิศ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคนั้น คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต 41,372 GWh หรือเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า (ชลบุรี 40.8% ระยอง 36.75% ฉะเชิงเทรา 22.67%) ซึ่งจะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าและโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า และระบบควบคุม Smart Grid พร้อมกับปรับปรุงสถานีดับเพลิงเดิม 80 แห่ง และเพิ่มสถานีดับเพลิง 3 แห่ง รัศมีการให้บริการไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากย่านชุมชน และสามารถไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 15 นาที เพิ่มพื้นที่บริการระบบบำบัดนํ้าเสียรวมชุมชน เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง 1,077 ตารางกิโลเมตร จากปริมาณนํ้าเสียรวม 650,920 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งต้องปรับปรุงระบบบำบัดนํ้าเสียรวมชุมชนเดิม 16 แห่ง และก่อสร้างใหม่ 51 แห่ง

ผังอีอีซี8ล้านไร่บูมศก. ดันจีดีพี10ล้านล้าน


 

เพิ่มการจัดหานํ้ารองรับ

พร้อมปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบรวมกลุ่มพื้นที่ Cluster จำนวน 11 แห่ง เพื่อรองรับปริมาณขยะมูลฝอย 7,030 ตันต่อวัน ในปี 2580 ส่งเสริมการจัดตั้งสถานที่กำจัดกากอุตสาหกรรม จากปัจจุบัน 14 แห่ง ให้สามารถรองรับปริมาณของเสียอันตรายได้อย่างเพียงพอในอนาคตและกำหนดให้มีถนนโครงการตามผังเมืองรวม/ชุมชน ตั้งแต่ 10- 60 เมตร จำนวนรวม 385 สาย รวมทั้งเพิ่มปริมาณนํ้าต้นทุนรองรับความต้องการใช้นํ้าทุกภาคส่วนเป็น 2,980 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในปี 2580 โดยเพิ่มกำลังผลิตนํ้าประปาจากเดิม 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 2.88 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รองรับการขยายตัวของเมือง มีพื้นที่บริการไม่น้อยกว่า 4,073 ตารางกิโลเมตร เป็นต้น

 

จับตาราคาที่ดินพุ่ง

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ทางกพอ. เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในแผนผังดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนยังไม่กล้าตัดสินใจ ซื้อที่ดิน แต่ต่อจากนี้ ผังเมืองอีอีซีมีความชัดเจน เป็นไปได้ว่า การเข้าพื้นที่จะมีมากขึ้น ขณะราคาที่ดิน ขยับสูงไปรอก่อนหน้านี้แล้ว ทำเลที่น่าสนใจจะอยู่บริเวณ รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ที่มีศักยภาพ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3510 วันที่  3-5 ตุลาคม 2562

ผังอีอีซี8ล้านไร่บูมศก. ดันจีดีพี10ล้านล้าน ​​​​​​​