กรมทางหลวงอยู่ระหว่างรังวัด ตรวจสอบแปลงที่ดิน ก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กิโลเมตร มูลค่าเกือบ 80,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดลงสู่ภาคใต้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ท่ามกลางเสียงคัดค้านอื้ออึงจากชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี
เนื่องจากแนวเส้นทางตัดผ่านที่ดินทำกิน พื้นที่อนุรักษ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่นา ป่าตาล ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถี ความเป็นอยู่ โดยเฉพาะการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันภายในหมู่บ้านถูกแบ่งแยก กลายเป็นที่ดินอกแตก มีถนนคั่นกลางและมีรั้วรอบ ผลกระทบทางเสียง มลพิษทางอากาศ ปัญหานํ้าท่วม การสูญเสียอาชีพ ฯลฯ
ที่ว่ากันว่าจะถูกกระทบกับผู้คนนับ 10,000 รายไม่ใช่เพียงแต่ผู้ที่ถูกเวนคืน 3,416 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 1,700 ราย ต้นไม้ อีก 735 ต้น
ขณะกรมทางหลวง ประเมินว่ามีความคุ้มค่า มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องสร้างมอเตอร์เวย์เส้นนี้รองรับปริมาณจราจรจากกรุงเทพ มหานคร จังหวัดในปริมณฑล โดยไม่ต้องผ่านเส้นทางของถนนเพชรเกษมที่ปัจจุบันมีปริมาณรถแออัดคับคั่ง
สำหรับความคืบหน้า กรมทางหลวง อยู่ระหว่างลงพื้นที่รังวัดเขตทาง ตรวจสอบแปลงที่ดินที่ต้องเวนคืน ก่อนออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืน ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เวนคืนที่ดินปี 2562 ที่บังคับใช้แทน กฎหมายเวนคืนปี 2530 ได้เปิดให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอุทธรณ์ได้นานถึง 90วันจากเดิมให้เวลาเพียง 30 วัน ที่สำคัญยังจูงใจโดยให้ค่าชดเชยเพิ่มอีก 2% จากราคาประเมินหากเจ้าของที่ดินให้ความร่วมมือแก่รัฐ เปรียบเสมือนเป็นโบนัส และภายในปี 2563 กรมทางหลวงจะนำโครงการมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนจะออกพ.ร.ฎ.เวนคืนในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงระบุว่าเชื่อว่าจำนวนแปลงที่ดินจะไม่เพิ่มหรือลดลงไปมากกว่านี้ แต่อาจจะมีบ้างที่เจ้าของที่ดินมีการแบ่งแปลงที่ดิน หรืออาจยุบรวมแปลงที่ดิน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ มีเพียง จุดเดียวคือจังหวัดเพชรบุรีที่ส่วนใหญ่ต้องการอนุรักษ์วิถีการทำการเกษตร ป่าตาล
ขณะที่ แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง ระบุว่าผู้รับเหมาต้องการให้รัฐกระจายงานด้วยการแบ่งซอย โครงการเป็นตอนๆ เหมือน มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี หากกำหนดรูปแบบพีพีพี เชื่อว่างานจะอยู่ในมือของยักษ์รับเหมาเพียงไม่กี่ราย
สำหรับแนวเส้นทางตอนที่ 1 นครปฐม-ปากท่อ เริ่มจากด้านทิศตะวันออกของจังหวัดนครปฐม ที่จุดเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่-บ้านโป่ง บริเวณกิโลเมตรที่ 23+500 ด้านทิศเหนือของบ้านท้องไทร ตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม สิ้นสุดที่จุดเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่น ดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) รวมระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร ตอนที่ 2 ปากท่อ-ชะอำ
เริ่มจากจุดเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปเลียบเขตทางรถไฟสายใต้ด้านตะวันออกบริเวณตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เส้นทางส่วนใหญ่ตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านลาด และอำเภอท่ายางไปจนสิ้นสุดแนวเส้นทางที่จุดเชื่อมต่อกับแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชะอำ-ชุมพร บริเวณด้านทิศเหนือของบ้านท่าต้นโพธิ์ ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี รวมระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร
เส้นทางนี้ประเมินว่าจะเป็นเกตเวย์สู่ภาคใต้ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่น่าจับตา แต่จะฝ่าด่านชาวบ้านไปได้หรือไม่ งานนี้คงต้องลุ้น
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12-14 ธันวาคม 2562