นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ กนอ.ปี 2563 -2565 มีเป้าหมายให้นิคมฯ ที่เปิดดำเนินการแล้ว จำนวน 36 แห่งเข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายในปี 2565 โดยนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี และนิคมอุตสาหกรรม WHA ชลบุรี 2 ตั้งเป้าหมายจะเข้ารับการตรวจประเมินเพื่อขอรับรองการเป็นนิคมอุตสาหกรรมระดับ Eco Champion ในปี 2563 โดยนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของกนอ. ที่จะต้องสร้างสมดุลของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจาก กนอ. ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยหลักการ 5 มิติ 22 ด้าน ทั้งในมิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ
สำหรับผลการตรวจประเมินพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ประจำปีงบประมาณ 2562 มีนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านการรับรองในระดับ Eco - Champion จำนวน 32 แห่ง โดยมีนิคมฯที่ได้รับการยกระดับเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco-Excellence จำนวน 9 แห่ง และยกระดับเป็น Eco-World Class จำนวน 2 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงงานเชิงนิเวศอีก 16 แห่ง และโรงงานสนับสนุนข้อมูลให้กับนิคมฯ เชิงนิเวศ จำนวน 67 แห่ง จากพัฒนาการที่เกิดขึ้น และผลการดำเนินงานที่น่าพึงพอใจนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ กนอ. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาตั้งแต่ปี 2553
ทั้งนี้ นิคมฯ ที่ผ่านการรับรองในระดับ Eco – Championทั้ง 32 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมฯ บางปู 2.นิคมฯ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 3.นิคมฯ แหลมฉบัง 4.นิคมฯ บางชัน 5.นิคมฯสมุทรสาคร 6.นิคมฯ บางพลี 7.นิคมฯ ลาดกระบัง 8.นิคมฯ บางปะอิน 9.นิคมฯ ภาคใต้ 10.นิคมฯ เกตเวย์ซิตี้ 11.นิคมฯ สินสาคร 12.นิคมฯ บ้านหว้า 13.นิคมฯ ปิ่นทอง 14.นิคมฯ พิจิตร 15.นิคมฯ เวลโกรว์ 16.นิคมฯ WHA ตะวันออก 17.นิคมฯ ปิ่นทอง 18.นิคมฯ ราชบุรี 19.นิคมฯ ผาแดง (แหลมฉบัง) 20.นิคมฯ แก่งคอย 21.นิคมฯ WHA อีสเทิร์นซีบอร์ด 22.นิคมฯ WHA ชลบุรี 23.นิคมฯ ปิ่นทอง 5 ในจำนวนนี้ มีนิคมฯ ที่ได้รับการยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Excellence ได้แก่ 24.นิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี 25.นิคมฯ หนองแค 26.นิคมฯ ภาคเหนือ 27.นิคมฯ อมตะซิตี้ ระยอง 28.นิคมฯ มาบตาพุด 29.นิคมฯ เอเชีย 30.นิคมฯ ปิ่นทอง 3 และนิคมฯ ที่ได้รับการยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-World Class ได้แก่ 31.นิคมฯ อาร์ ไอ แอล 32.ท่าเรือฯ มาบตาพุด
“เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หมายถึง รูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี โดย กนอ.ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาตั้งแต่ปี 2542 ด้วยการกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร ขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ของ กนอ. ภายใต้แผนงาน 5G+ ซึ่งแผนงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอยู่ในยุทธศาสตร์ Green โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนได้แก่ Eco Team, Eco Committee และ Eco Green Network เพื่อร่วมกันวางแผน และยกระดับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศร่วมกัน”
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า แนวทางและเกณฑ์การพัฒนาได้รับการตรวจประเมินโดยผู้ตรวจติดตามภายใน และภายนอกเพื่อให้การรับรองที่เป็นที่ยอมรับ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Eco -Champion นิคมฯ ที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสามารถอยู่ร่วมกับสังคมอย่างผาสุกบนหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ,Eco -Excellence นิคมฯ ที่สามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม พัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายของทุกภาคส่วน และ Eco – World Class นิคมฯ ที่เป็นผู้นำในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พัฒนาให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า เพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นที่พึ่งของชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม