ทะลวงต่อขยาย ‘เหลือง-ชมพู’เฟส 2 ดึงคนศาลรัชดาฯ-เมืองทองเข้าระบบ

07 ม.ค. 2563 | 23:40 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2563 | 04:59 น.

 

นอกจาก กลุ่มบีทีเอส จะก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) ระยะทาง 19 กิโลเมตร เปิดใช้เส้นทางเต็มทั้งระบบปลายปีนี้แล้ว ยังเร่งก่อสร้างเส้นทางสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร และ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2564

 

ล่าสุด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแผนเชื่อมโยงโครงข่ายรองรับกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่จุดอับ ไม่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน มีข้อจำกัดเรื่องรถสาธารณะ จึงขีดแนวส่วนต่อขยายออกไปอีก 2 เส้นทาง กวาดคนให้เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าเพิ่ม ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง รูปแบบโมโนเรล ช่วงถนนลาดพร้าว-รัชดาฯ บริเวณอาคารจอดแล้วจรของ รฟม. ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตัดกับ MRT ใต้ดินสีนํ้าเงิน ปัจจุบัน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถ ก่อสร้างยกระดับวิ่งไปตามเส้นทางของ ถนนรัชดาฯ ผ่านหน้าศาลอาญามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กลุ่มที่ตั้งของคอนโดมิเนียมที่อยู่บริเวณด้านในซอย

 

 

ส่วนการเวนคืนมีกระทบเล็กน้อยบริเวณหน้าศาลและบาทวิถี เนื่องจากเป็นจุดที่ตั้งสถานีบริเวณหน้าศาลวิ่งไปตามเกาะกลางถนนรัชดาฯ ไปสิ้นสุดที่บริเวณใกล้แยกรัชโยธิน ถนนพหลโยธิน บริเวณนี้เวนคืนเล็กน้อยส่วนใหญ่เป็นบาทวิถีของกรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้าง ตัวสถานี บริเวณแยกรัชโยธินหน้าสน.พหลโยธินเชื่อมต่อกับส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) ที่สถานีพหลโยธิน 24 ที่บีทีเอส จะสร้างวอล์กเวย์เชื่อมระหว่าง 2 สถานีอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเปลี่ยนถ่ายเส้นทาง

ทะลวงต่อขยาย ‘เหลือง-ชมพู’เฟส 2  ดึงคนศาลรัชดาฯ-เมืองทองเข้าระบบ

 

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก รฟม.ยืนยันว่า การก่อสร้างเฟส 2 ของสายสีเหลืองจะเกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากอยู่ในเขตเมือง มองว่าจะมีคนใช้บริการสูง ทั้งเจ้าหน้าที่ คนมาติดต่อยังศาล อีกทั้ง สถาบันการศึกษาตลอดจนผู้อยู่อาศัยในระแวกนั้นอย่างคอนโดมิเนียม เช่นเดียวกับนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ยํ้าว่า ภายในปี 2563 น่าจะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างเส้นทางส่วนต่อขยายนี้ ซึ่งระยะทางมีความยาวเกือบ 3 กิโลเมตร วิ่งจากอาคารจอดรถรฟม. ไปยังแยกรัชโยธิน แต่ทั้งนี้ รฟม. มอบให้ทาง BEM ศึกษา เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อผู้โดยสารของสายสีนํ้าเงิน

 

อย่างไรก็ตามนายสุรพงษ์ ประเมินว่าน่าจะส่งผลดีมากกว่า ทั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างกัน การป้อนผู้โดยสารให้กับสายสีนํ้าเงิน ตลอดจนของบีทีเอสเอง จากการรับคนจากพระราม 9 ทั้งใต้ดินสีนํ้าเงิน สายสีส้มที่จะเปิดให้บริการในอนาคต ผ่านมายังสายสีเหลืองและสายสีเขียวบีทีเอสทั้งระบบ ขณะส่วนต่อขยายสายสีชมพูเชื่อมเข้าเมืองทองธานี วิ่งไปตามทางด่วนมี 2 สถานี ให้บริการ ได้แก่ บริเวณอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์และด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งการเจรจากับ รฟม. ผ่านไป 2 ครั้ง น่าจะเข้าพื้นที่ได้ภายในปีนี้เพื่อก่อสร้างไปพร้อมกับเส้นทางหลักสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยใช้เงินลงทุนเอง คาดว่าจะรับผู้โดยสารรายใหม่ๆ เติมเข้าระบบในปริมาณหลัก 10,000คนขึ้นไป

 

อนาคตการเดินทางจะสะดวกสบายยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีโครงข่ายรถไฟฟ้าต่อขยายเชื่อมโยงเป็นใยแมงมุม ทะลุทะลวงรับคนเข้าระบบมากขึ้นแม้จะอยู่ในมุมอับของเมือง

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,537 วันที่ 5-8 มกราคม 2563

ทะลวงต่อขยาย ‘เหลือง-ชมพู’เฟส 2  ดึงคนศาลรัชดาฯ-เมืองทองเข้าระบบ