กฟภ.ดึงเอกชน ร่วมทุน 2.3 หมื่นล้าน โซลาร์ฟาร์ม 500 MW

29 ม.ค. 2563 | 23:10 น.

โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และระบบกักเก็บพลังงาน ถือเป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำลังเร่งขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อให้สอดรับกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)

ให้สิทธิกฟภ.ลุยโครงการ

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) รับไปดำเนินงาน ในการจัดหาไฟฟ้าส่วนนี้ให้กับอีอีซี

ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าในอีอีซี ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีปริมาณรวมทั้งสิ้นราว 3,735 เมกะวัตต์ และประมาณการว่าในปี 2580 จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคน เป็น กว่า 6 ล้านคน และจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในหลายรูปแบบ ที่เป็นการร่วมลงทุนของภาคเอกชนและรัฐ การลงทุนของเอกชน เป็นต้น

 

กฟภ.ดึงเอกชน  ร่วมทุน 2.3 หมื่นล้าน โซลาร์ฟาร์ม 500 MW

 

 

ตั้งเป้า 500 MW

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า อีอีซีให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมคาร์บอนตํ่า (Low Carbon Society) จัดหาไฟฟ้าพลังงานสะอาด ถือเป็นโครงการสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกฟภ. ที่จะศึกษา พัฒนา และจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน โดยจะมีบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) บริษัทลูกของกฟภ. จะเป็นผู้ลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เพราะมีความพร้อมทั้งในด้านเงินลงทุนและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับโครงการดังกล่าว จะเป็นการพัฒนาและลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับภาคเอกชนในประเทศไทย แบบผสมผสาน ร่วมกับการทำการเกษตรในพื้นที่เดิมตามสัดส่วนที่เหมาะสม โดยในระยะแรก การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุนโครงการประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

 

คลอดเกณฑ์ซื้อขายไฟฟ้า

ทั้งนี้ มีรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้า เป็นสัญญาซื้อขายเป็นแบบ Non-firm ในอัตราการรับซื้อไฟฟ้าขายส่ง ช่วง Peak 4.22 บาทต่อหน่วย และช่วง Off-Peak 2.35 บาทต่อหน่วย เป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าพิจารณาบนหลักการเดียวกับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งที่ กฟผ.ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย และไม่มีการบวกเพิ่มค่าใช้จ่าย ทั้ง Adder หรือ FiT ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกที่ กฟภ. ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่สถานที่ตั้งโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทางสกพอ. จะไปจัดหาพื้นที่ให้เช่าสำหรับเป็นที่ตั้งโครงการแบบผสมผสานร่วมกับการทำการเกษตรในพื้นที่เดิมตามสัดส่วนที่เหมาะสม ในบริเวณพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

 

สู่สังคมคาร์บอนตํ่า

รวมทั้ง ศึกษาความเหมาะสม และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบและบริหารจัดการความต้องการไฟฟ้าสูงสุดช่วงเวลากลางคืน อันจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ อีกทั้ง จะศึกษาแนวทางการกำหนดค่าไฟฟ้าในรูปแบบ One Price Energy Tariff หรือค่าพลังงานไฟฟ้าที่กฟภ. รับซื้อเป็นราคาเดียวทุกช่วงเวลา เพื่อให้เกิดการสะท้อนต้นทุนการผลิตที่เป็นจริงมากขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าว จะช่วยให้อีอีซีบรรลุเป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนตํ่า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ลงได้ถึง 30% ช่วยให้อีอีซีเป็นศูนย์ กลางธุรกิจและวัฒนธรรมที่น่าอยู่และน่าลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ 

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,544 วันที่ 30 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2563