นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เดินหน้าพัฒนาการให้บริการแก่นักลงทุนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก
สำหรับในปี 2563 นี้ กรมฯ มีแผนการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Certificate) สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ประกอบธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เป็นการให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ได้แก่ การออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Certificate) การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถยื่นขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน จากบีโอไอและหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้ ณ จุดเดียว
“สำหรับการยื่นขอหนังสือรับรองฯ ตามขั้นตอนจะมีระยะเวลาในการออกหนังสือรับรองที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 30 วัน แต่สำหรับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้จะใช้เวลาภายใน 3 วัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ และประกอบธุรกิจตามที่ได้รับอนุญาตได้ทันทีซึ่งไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดการหมุนเวียน”
ปัจจุบันแนวโน้มการลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากปี 2562 มีนักลงทุนต่างชาติยื่นขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตามที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมูลค่าการลงทุนกว่า 169,000 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ขออนุญาตส่วนใหญ่ อาทิ ค้าส่ง รับจ้างผลิต บริการด้านคอมพิวเตอร์(ออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) ฯลฯ เป็นต้น
ขณะข้อมูลจากบีโอไอ ปี 2562 มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 756,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี จำนวน 506 โครงการ เงินลงทุนรวม 444,880 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ตามด้วยชลบุรีและฉะเชิงเทรา ตามลำดับ
สำหรับในปี 2563 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ คาดการลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดี จากบีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อเร่งรัดการลงทุนโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ผ่านมาตรการ Thailand Plus ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี