นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในการบรรยายหัวข้อ”ทางรอดเศรษฐกิจไทย ภายใต้ภัยไวรัส” จัดโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยระบุว่า หากตัวเลขที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลง 5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของประเทศไทยหายไปประมาณ 2.5 แสนล้านบาท มีความเป็นไปได้ที่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 2563 จะเติบโตต่ำกว่า 2%
เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกัน หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงกว่าคาดการณ์ อาจกระทบ GDP ทั้งปี 2563 ขยายตัวไม่ถึง 2% โดยอาจขยายตัวเพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน ธปท.คาดการณ์ GDP ปี 2563 ขยายตัว 2.8% ส่วนช่วงไตรมาส 1/2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวไม่ถึง 1%
ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยลบอย่างไวรัสโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรงแล้ว ยังมีปัญหาภัยแล้ง และงบประมาณปี 2563 ล่าช้าออกไปอีก ทำให้เศรษฐกิจในปี 2563 ค่อนข้างสาหัส ซึ่งต้องติดตามผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ว่าจะรุนแรงแค่ไหนโดยอาจไม่รุนแรงเท่ากับตัวเลขของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา แต่มีความเป็นไปได้ที่ GDP ปี 2563 จะต่ำกว่า 2%
โดยยอมรับว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าวิบากกรรมมาก จึงต้องใช้นโยบายการเงิน มาตรการคลัง มาตรการเงิน มาตรการด้านสาธารณสุข ที่ต้องดำเนินการสอดคล้องกัน โดยสถาบันการเงินต้องเข้ามาช่วยเยี่ยวยาลูกหนี้ไม่ให้ขาดสภาพคล่อง เป็นต้น เพราะไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง 3 ด้านคือ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ภัยแล้งและงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้ามาก ส่วนผลกระทบนักท่องเที่ยวจีนนั้นเมื่อเทียบกับช่วงเกิดปัญหาโรคชาร์สระบาด สัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2003 คิดเป็น 6% เท่านั้นแต่ปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 27 % ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดซึ่งถือว่าใหญ่มาก ส่วนการจ้างภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 20 % ของการจ้างงาน ขณะที่ภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 40%
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เผยว่าพรุ่งนี้ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เรียกหน่วยงานหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังซึ่งในส่วนของ ททท.จะนำเสนอ 3 มาตรการ โดยระยะสั้น ถือว่าเป็นช่วงทำใจ รอว่าเมื่อไรนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมา เทียบกับสถานการณ์โรคชาร์ส จะกระทบ 3- 5 เดือน และน่าจะติดลบมากสุดในเดือนเมษายน หลังจากนั้นจะเริ่มลบน้อยลงในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนน่าจะลดลงน้อยที่สุด และเป็นบวกในเดือนกรกฏาคม
ส่วนมาตรการที่จะนำเสนอต่อรองนายกสมคิดได้แก่ 1.มาตรการฝ่าวิกฤติ โคโรนา ที่ต้องมีการเยียวยาผู้ประกอบการ การหาแหล่งเงินทุน การเข้าถึงแหล่งทุน 2.มาตรการความเชื่อมั่นที่ต้องกระตุ้นตลดในประเทศ ให้ฟื้นก่อนจากนั้นถึงจะกระตุ้นตลาดต่างประเทศ 3.ซ่อมสร้างอุปทาน ยกระดับการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน ในช่วงที่ไม่มีคนเข้ามาก็กลับไปปรับปรุง และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ต่าง ๆ ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น