บีทีเอส เตรียมปรับแผนขบวนรถไฟฟ้าสายสีทองทั้งหมด หลังเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า BTS เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร ซึ่ง BTSC เป็นผู้ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและบริหารการเดินรถว่า BTS ตั้งเป้าเร่งเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง 2 สถานีแรก ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรีและสถานีเจริญนคร (ไอคอนสยาม) ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 ด้านสถานีคลองสาน ซึ่งเป็นสถานีที่ 3 และสถานีสุดท้าย ยังติดปัญหาเรื่องบันไดขึ้นลง ถ้าหากแก้ปัญหาได้ ก็จะเปิดให้บริการพร้อมกันทั้ง 3 สถานี
สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสีทองยังติดปัญหาเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์และขบวนรถไฟฟ้า เนื่องจากโรงงานผลิตรถไฟฟ้าของบอมบาร์ดิเอร์ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองนานกิง ประเทศจีน โดยเมื่อรัฐบาลจีนมีมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ก็ส่งผลให้ระบบโลจิสติกส์ในประเทศจีนมีความยุ่งยาก ไม่สามารถขนส่งรถไฟฟ้าออกจากโรงงานในประเทศจีนได้ จากแผนเดิมขบวนรถไฟฟ้าจะต้องถูกขนส่งออกจากโรงงานแล้ว และมีกำหนดส่งถึงประเทศไทยในเดือนหน้า
ล่าสุด BTSอยู่ระหว่างปรับแผนใหม่ทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่าประเทศจีนน่าจะเปิดระบบโลจิสติกส์ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์จากนั้น BTS จะขนส่งขบวนรถไฟฟ้าออกจากโรงงาน มายังประเทศไทยทันที ขณะเดียวกันจะเปลี่ยนขั้นตอนการทดสอบขบวนรถ จากเดิมต้องทดสอบในโรงงานประเทศจีน ก็จะเปลี่ยนมาทดสอบในประเทศไทยแทน เพื่อไม่ให้เสียเวลา
“ความจริงรถต้องมาแล้ว เราจึงต้องหาวิธีแก้ปัญหา จากเดิมที่ต้องทดสอบที่โรงงานเมืองจีน ก็จะมาทดสอบที่รางเมืองไทยได้ไหมทดสอบบนรางเลย เพราะคนเข้าไปในนั้นก็ลำบาก”
“ เชื่อว่าขบวนรถไฟฟ้าจะมาทันตามกำหนดและไม่ส่งผลกระทบต่อการเปิดเดินรถอย่างแน่นอน แต่การเปิดให้บริการก็ขึ้นอยู่กับความคืบหน้างานโยธาและการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณด้วย โดยเมื่อเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีทองครั้งแรกในปีนี้ ประเมินว่าจะมีผู้โดยสาร 40,000-50,000 คนต่อวัน”
นอกจากนี้ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวในภาพรวมไม่ได้ลดลงและยังขยายตัว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 8 แสนคนกว่าต่อวัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ BTS เปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเพิ่ม 5 สถานี ระหว่างสถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในช่วงปลายปี 2562แต่ยอมรับว่า การขยายตัวของผู้โดยสารต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยเรื่องสภาพเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อผู้โดยสารชาวจีน โดยผู้โดยสารชาวจีนมีสัดส่วนประมาณ 5-6% ของปริมาณผู้โดยสารต่างชาติทั้งหมด แต่ผู้โดยสารต่างชาติก็ยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณผู้โดยสารชาวไทย