นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟ (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า (เส้นทางหนองคาย - แหลมฉบัง) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นโครงการศึกษาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยให้เอกชนร่วมพัฒนาระบบเดินรถด้วยไฟฟ้า (Rail Electrification) และบริการจัดการขนส่งสินค้าทางรถไฟเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง มูลค่าลงทุน 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ปี 2564 ให้บริการจริงปี 2569 “การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการขนส่งสินค้าด้วยระบบราง จึงได้จัดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ต่อโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า (เส้นทางหนองคาย – แหลมฉบัง)” เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของการศึกษาโครงการให้หน่วยงานธุรกิจภาคเอกชน
พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนต่อการศึกษาโครงการ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดการดําเนินงานโครงการในภาพรวมการรถไฟฯ ได้มีโครงการที่จะเปลี่ยนจากการใช้รถจักรดีเซล (Diesel Electric Locomotive) และรถดีเซลราง (Diesel Multiple Unit: DMU) ในปัจจุบัน ไปเป็นรถจักรไฟฟ้าและ Electric Multiple Unit (EMU) เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้า โดยได้ทําการศึกษาความเหมาะสมการเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางคู่ 4 เส้นทาง เมื่อปี 2554 ทั้งนี้ ผลการศึกษาได้เสนอแนะว่า การเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเหมาะสมในการพัฒนามากที่สุด เพื่อลดภาระการลงทุนในส่วนของการรถไฟฯ ที่จะต้องเป็นผู้รับภาระเอง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การขนส่งทางราง ให้สามารถพัฒนาเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ การรถไฟฯ จึงดําเนินการศึกษาการให้เอกชนเข้ามามี ส่วนร่วมในการลงทุนและให้บริการขนส่งสินค้า ในเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง (ระยะทางรวมประมาณ 683 กิโลเมตร) มูลค่าการลงทุนระยะ เริ่มแรกประมาณ 26,400 ล้านบาท (30,000 ล้านบาท ตลอดโครงการ) แบ่งเป็น ภาครัฐลงทุนระบบ OCS (Overhead Catenary System) ในขณะที่ภาคเอกชนลงทุนรถจักรไฟฟ้า รถบรรทุกสินค้า(แคร่) และอู่จอด และซ่อมบํารุง รวมทั้ง การพัฒนาระบบรางเพิ่มเติม (ถ้ามี)
นายวรวุฒิฯ กล่าวต่อว่า จากผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางการเงิน (Financial Feasibility) สามารถสรุปได้ว่า การรถไฟฯ ควรเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนในงานโครงสร้างพื้นฐานของระบบเดินรถด้วยไฟฟ้า ในขณะที่ภาคเอกชนผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนในขบวนรถ และงานอู่จอดและซ่อมบำรุง รวมถึงเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรูปแบบการร่วมลงทุน PPP Net Cost ซึ่งจะให้ผลประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และสามารถพัฒนาการขับเคลื่อนการขนส่งทางราง โครงการนี้สามารถให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 22 โดยการรถไฟฯ จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาทางคู่เป็นระบบไฟฟ้าเพื่อการเดินรถในอนาคต และได้รับผลตอบแทนจากเอกชนตามสัญญา นอกจากนั้น โครงการนี้จะช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดเวลาในการขนส่ง และเพิ่มสัดส่วนในการขนส่งทางรางสูงขึ้น ตามนโยบายหลัก ของกระทรวงคมนาคม ดังนั้น หากโครงการได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) แล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้เร็วที่สุดต้นปี 2564 และจะเปิดให้บริการปี 2569 โดยระยะเวลาของสัญญา ร่วมลงทุน ไม่น้อยกว่า 30 ปี ด้วยรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ซึ่งจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการขนส่งระบบรางของประเทศได้เป็นอย่างดี