จัดระบบขนส่งทางราง สกัดโควิด-19

27 มี.ค. 2563 | 09:54 น.

 

 

ขร.ออกประกาศ มาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  หวังควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่ม 26 มี.ค.63

 

    จัดระบบขนส่งทางราง สกัดโควิด-19

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยหลัง ลงนามในประกาศกรมการขนส่งทางราง เรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางรางภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ว่าเนื่องด้วยรัฐบาลได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 และมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มี.ค.63 เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล กรมการขนส่งทางรางจึงออกประกาศดังกล่าว โดยรายละเอียดแบ่งเป็น 2 ส่วน  1. ผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) และ 2. ผู้โดยสาร

สำหรับผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง 

      จัดระบบขนส่งทางราง สกัดโควิด-19 จัดระบบขนส่งทางราง สกัดโควิด-19

  1.เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในขบวนรถและภายในสถานี เช่น ราวจับ ที่จับบริเวณประตูขบวนรถ เก้าอี้นั่งโดยสาร เครื่องออกตั๋วโดยสาร ราวจับบันได/บันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟต์ และห้องน้ำ เป็นต้น และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน

       2.ติดตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์เจล เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารรวมถึงพนักงาน ในพื้นที่ส่วนกลางและบริเวณที่มีการใช้งานร่วมกัน เช่น บริเวณทางเข้า - ออกสถานี ห้องออกบัตรโดยสาร

       3.จัดให้มีจุดคัดกรองผู้โดยสารด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการระบบขนส่งทางราง หากพบผู้ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการไอ จาม มีน้ำมูก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ จะต้องให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อและให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และ/หรือติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่หรือกรมควบคุมโรคเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามความเหมาะสมแก่เหตุอันควรรายกรณี และชี้แจงเหตุผลอันจำเป็นแก่ผู้โดยสารอันเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรคติดต่อ

       4. ประชาสัมพันธ์ แนะนำทั้งภายในสถานีและขบวนรถเพื่อการโดยสารในรูปแบบที่เหมาะสมและมีความชัดเจนในการแจ้งมาตรการพึงปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2538 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 ตามข้อ 8 สำหรับผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ง่าย ดังต่อไปนี้ 

4.1ผู้สูงอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป

4.2 กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคในระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำตามธรรมชาติของโรคและด้วยยาที่ใช้รักษา

4.3 กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่าห้าปีลงมา

5. ประสานและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓ ข้อ ๑๐ เพื่อจัดระเบียบการเดินทางการเฝ้าระวังหรือสังเกตอาการผู้เดินทางและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด

5.1 กรณีใช้บริการรถไฟระหว่างจังหวัด จัดให้มีแบบคำถามสุขภาพ (แบบ ต.8 คค) แนบท้ายประกาศนี้ เพื่อขอความร่วมมือผู้โดยสารแสดงข้อมูล ชื่อ สกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักหรือเลขที่หนังสือเดินทาง สัญชาติ หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ เหตุผลในการเดินทาง และระบุที่พักปลายทางหรือข้อมูลด้านสุขภาพอันเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคติดต่อ ณ จุดจำหน่ายบัตรโดยสาร

5.2 กรณีใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครข้ามเขตพื้นที่จังหวัด จัดให้มีแบบคำถามสุขภาพ (แบบ ต.8 คค) แนบท้ายประกาศนี้ เพื่อขอความร่วมมือผู้โดยสารแสดงข้อมูล ชื่อ สกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือเลขที่หนังสือเดินทาง สัญชาติ หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ เหตุผลในการเดินทางและระบุที่พักปลายทางหรือข้อมูลด้านสุขภาพอันเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคติดต่อ ณ สถานีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นบริเวณปลายทางนอกกรุงเทพมหานคร

6. ให้ใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มาปรับใช้ในการบริหารจัดการภายในสถานีและขบวนรถ เช่น การเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นๆ ในระยะอย่างน้อย 1 เมตรเพื่อรับบริการตามความเหมาะสม

7. เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันสำหรับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติงาน และตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองก่อนปฏิบัติงานทุกวันหากมีเจ้าหน้าที่ที่มีอาการป่วย หรือมีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ให้พบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที และ/หรือติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือกรมควบคุมโรคเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

8. ให้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และรณรงค์แนะนำการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  แก่ผู้โดยสารผ่านสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์ แผ่นพับ จอ LED เสียงประชาสัมพันธ์ภายในสถานีและขบวนรถและสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

9. แจ้งให้ประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง จะต้องสวมหน้ากากอนามัย

หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่ใช้บริการภายในระบบขนส่งทางราง ทั้งภายในสถานีและภายในขบวนรถ และกำกับการดำเนินงาน รวมทั้งชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นแก่ประชาชน

10. จัดให้มีจุดจำหน่ายหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในระบบ

  

ในส่วนของผู้โดยสารปฏิบัติดังนี้

1. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่ใช้บริการภายในระบบขนส่งทางรางทั้งภายในสถานีและภายในขบวนรถ

2. หมั่นล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

3. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสปาก ตา และจมูก ซึ่งเป็นช่องทางการติดเชื้อโรคได้

4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสบุคคลอื่นขณะเดินทางโดยระบบขนส่งทางราง ควรยืน เดิน หรือนั่ง สำหรับผู้โดยสารที่มีอาการไอ จาม โดยใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ควรเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นๆ ในระยะอย่างน้อย 1 เมตร

 

ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 จะคลี่คลายหรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ขอให้ผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางและประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางปฏิบัติตามประกาศของกรมการขนส่งทางราง เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19