ดันผังเมืองเขตเศรษฐกิจนครพนม หนุนท่องเที่ยวไทย-ลาว

21 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

ทช.เดินหน้าสร้างถนนสาย ง, ค3 และ ค4 ผังเมืองรวมเมืองนครพนม หนุนการขนส่ง การท่องเที่ยวระหว่างไทย-ลาว หวังบรรเทาการจราจรบนถนนสายหลัก เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางต่อเนื่อง

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ง, ค3 และ ค4 ผังเมืองรวมเมืองนครพนม ประกอบด้วย  ถนนสาย ง เป็นการก่อสร้างถนนใหม่ สายทางแยกจากถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212  และ ถนนสาย ค3 และ ค4 เป็นการก่อสร้างสายทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 240 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต และแก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในเขตเมือง โดยจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดแม่น้ำโขง มีเขตชายแดนเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

 

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีผลงานการก่อสร้างก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 29 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานวางท่อระบายน้ำ งานก่อสร้างสะพาน และงานก่อสร้างผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ประมาณปลายปี 2563 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 256.995 ล้านบาท เป็นงบผูกพัน 3 ปี  (2561-2563)

สำหรับถนนสาย ง เป็นการก่อสร้างถนนใหม่ สายทางแยกจากถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง และไปบรรจบกับถนนเฟื่องนครและถนนนิตโย โดยก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก บริเวณทางแยกมี 6 ช่องจราจร บริเวณช่วงอื่น ๆ มี 4 ช่องจราจร ไป-กลับ มีไหล่ทาง ทางจักรยานบริเวณชุมชน พร้อมก่อสร้างสะพาน 1 แห่ง ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ระยะทางรวม 3.774 กิโลเมตร 

นอกจากนี้ถนนสาย ค3 และ ค4 เป็นการก่อสร้างสายทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 240 มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณ กม.5+864 และไปตัดกับถนนสาย ง ต่อเนื่องไปเชื่อมกับถนนเทศาประดิษฐ์ จุดสิ้นสุดโครงการไปบรรจบกับถนนชยางกูร (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212) ระยะทางรวม 2.134 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้  ส่วนที่ 1 ก่อสร้างถนนใหม่ เป็นผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ มีเกาะกลาง ไหล่ทาง ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ระยะทาง 1.223 กิโลเมตร   ส่วนที่ 2 ก่อสร้างบนถนนเทศาประดิษฐ์ รูปแบบการก่อสร้างมีทั้งช่วงที่รื้อผิวจราจรเดิมแล้วก่อสร้างผิวจราจรใหม่ และช่วงที่ใช้ผิวจราจรเดิม ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ พร้อมปรับปรุงทางแยก ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ระยะทาง 0.911 กิโลเมตร