ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ และเคยเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกมาก่อน แต่ระงับการส่งออกเอทานอลไปเมื่อ 1 มกราคม 2556 เมื่อมีการยกเลิกการใช้นํ้ามันเบนซิน 91 (มีการใช้เอทานอล 10% แทนการใช้ MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เอทานอล ในปริมาณมากขึ้น เนื่องจากนํ้ามันแก๊สโซฮอล์ E20 ที่ใช้แทนนํ้ามันเบนซิน 91 มีปริมาณการใช้เอทานอล มากขึ้นเท่าตัวคือ มีการผสมเอทานอลถึง 20% แทน
ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ผลิตเอทานอลเป็นลำดับที่ 6 ของโลกในปี 2562 ตามหลังสหรัฐอเมริกา บราซิล จีน แต่กำลังการผลิตของไทยน้อยกว่าทั้ง 3 ชาติดังกล่าวมาก ทั้ง 3 ประเทศมีกำลังการผลิตเอทานอลมากกว่า 87% ของทั้งโลกรวมกัน ในขณะที่ไทยมีกำลังการผลิตเพียงแค่ 1.4% ของทั้งโลก แต่ก็นับว่ามากพอสมควร มีกำลังการผลิตถึง 1,589.87 ล้านลิตร ในปี 2562 หรือเฉลี่ยแล้วผลิตเอทานอลได้ถึงวันละ 4.36 ล้านลิตร หรือคิดเป็น 74% ของกำลังการผลิตรวมที่ 5.89 ล้านลิตรต่อวัน (ปัจจุบันกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6.29 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากมีการเพิ่มโรงผลิตเอทานอลอีก 2 แห่ง)
การผลิตเอทานอลมาจากวัตถุดิบหลัก 3 ประเภท คือ กากนํ้าตาล มันสำปะหลัง และนํ้าอ้อย ซึ่งเอทานอลที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะใช้ผสมในนํ้ามัน เป็นปริมาณถึง 4.3 ล้านลิตรต่อวัน (ซึ่งเอทานอลส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในเป็นเวชภัณฑ์ ส่วนผสมในเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมอื่นๆ) ถึงแม้ว่าภัยแล้งในไทยทำให้ปริมาณอ้อยที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตลดลง แต่จากการคาดการณ์เอทานอลจะไม่ขาดแคลนและเพียงพอ เนื่องจากเหตุการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ทำให้การส่งออกมันสำปะหลังไปจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทยนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนักและการส่งออกลดลงถึง 20% ทำให้การผลิตเอทานอลไม่ได้รับผลกระทบเพราะกำลังการผลิตที่หายไปจากอ้อยจะถูกแทนที่ด้วยมันสำปะหลัง
ด้วยสถานการณ์ การระบาดของโรค Covid-19 ในไทยทำให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการทำงานจากบ้านรวมถึงพยายามให้คนไม่ออกจากบ้าน ทำให้ปริมาณการใช้นํ้ามันในประเทศลดลง ประกอบกับกำลังการผลิต เอทานอลที่เพิ่มเติมเข้ามาในปีนี้อีก 4 แสนลิตรต่อวัน จากโรงงานผลิตเอทานอลที่เปิดดำเนินการในปีนี้ ทำให้สามารถมีกำลังการผลิตเอทานอลเหลือจากการผลิตเป็นนํ้ามันเชื้อเพลิงมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อวัน นำมาผลิตเป็นแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงไม่น่าจะขาดแคลน สำหรับฆ่าเชื้อไวรัส เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการใช้เอทานอลเพื่อนำไปฆ่าเชื้อโรคเพียง 800,000 ลิตรต่อเดือน เมื่อเทียบกับเอทานอลที่ผลิตได้แล้วนับว่าปริมาณต่างกันมาก
อีกทั้ง เอทานอลถูกระงับการส่งออกตั้งแต่ปี 2556 เอทานอลที่ผลิตได้จึงอยู่ในประเทศไทย ประกอบกับตอนนี้รัฐบาลเอง เร่งมือจับกุมผู้กระทำความผิดฐานกักตุนสินค้าควบคุมเหล่านี้ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็จะยิ่งช่วยให้สถานการณ์การขาดแคลนทุเลาลงได้ในเร็ววันครับ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23 - 25 เมษายน พ.ศ. 2563