กลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่มบมจ.ปตท (PTT), บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ร่วมลงทุนกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 หรือท่าเรือ F ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ล่าสุดการเจรจาเรื่องผลตอบแทนให้กับภาครัฐยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ท่าเรือแห่งนี้ต้องชะลอการเปิดให้บริการออกไปหรือไม่
เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) มีความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด เนื่องจากที่ผ่านมาบอร์ดคัดเลือกฯ ได้ให้กลุ่ม GPC จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ เพื่อเสนอบอร์ดคัดเลือกฯ โดยกลุ่ม GPC เป็นผู้ผ่านการประเมินในการประมูลโครงการดังกล่าว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ ทั้งนี้ได้เชิญกลุ่ม GPC มาเจรจาอีกครั้ง เมื่อวันที่วันที่ 27 เมษายน 2563
“ทาง GPC จะต้องจัด ทำข้อมูลเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐสูงกว่าที่เคยเสนอมา จากเดิมที่เคยเสนอผลตอบแทน จำนวน 12,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ จำนวน 32,225 ล้านบาท ซึ่งจะต้องดูผลการเจรจาอีกครั้ง หาก GPC เสนอผลตอบแทน จำนวน 32,000 ล้านบาท ตามที่รัฐกำหนด สามารถนำเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด กพอ.) และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทันที หาก GPC เสนอผลตอบแทนต่ำกว่าที่รัฐกำหนด ต้องเร่งดำเนินการเจรจาให้จบ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการเจรจาไม่นาน ซึ่ง GPC ก็ต้องเจรจาผลตอบแทนที่เขาสามารถรับได้และรัฐสามารถรับได้เช่นกัน ทั้งนี้จะเริ่มลงนามสัญญาได้เมื่อไหร่นั้น ยังสรุปไม่ได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการเจรจาว่าเขาสามารถให้ผลตอบแทนแก่รัฐได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราก็ต้องการผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง ระหว่างการลงนามสัญญาได้เลย หรือ เริ่มประมูลโครงการดังกล่าวใหม่”
เรือโทยุทธนา กล่าวต่อว่า การเจรจาโครงการดังกล่าว มีความล่าช้ากว่าแผน ทำให้การเปิดบริการโครงการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป จากเดิมที่วางแผนไว้เปิดให้บริการกลางปี 2566 อาจจะต้องเลื่อนเปิดให้บริการในปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ในส่วนข้อพิพาทของศาลปกครองที่ยังไม่สิ้นสุดนั้นไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ใคร เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบโครงการดังกล่าวเป็นการตรวจสอบเอกสารจากข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันการที่กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP (ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทพริมา มารีน จำกัด บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฯ และ Chaina Railway Construction Corporation Limited) ไม่ลงนามสัญญาในเอกสารซองที่ 2 ในการยอมรับการร่วมลงทุนระหว่างกัน ซึ่งเป็นสาระสำคัญ ที่ทำให้กลุ่ม NCP ไม่ ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค หากดูข้อเท็จจริงจากคำพิพากษา เห็นว่า ระหว่างผู้ที่มีทุนจดทะเบียนจำนวน 1 ล้านบาท และผู้ที่มีทุนจดทะเบียนจำนวน 10 ล้านบาท เข้าร่วมการประมูลโครงการดังกล่าว มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท มีความแตกต่างกันมาก ทำให้ศาลปกครองมองว่าเป็นสาระสำคัญของการไม่ยอมรับการร่วมลงทุนระหว่างกัน
หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563