การ์เมนต์CLMVระสํ่า ‘ไนซ์กรุ๊ป’ปรับแผนสู้

11 พ.ค. 2563 | 01:40 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2563 | 12:33 น.

พิษโควิดสะเทือนการ์เมนต์ไทยในต่างแดน ค่ายใหญ่ “ไนซ์กรุ๊ป-ฮงเส็งฯ-โอเรียนตอลฯ” ปรับแผนประคองธุรกิจในเวียดนาม กัมพูชา ทั้งลดเวลาทำงาน ลดผลิต 30% หันเย็บชุด PPE หน้ากากผ้าเสริมสภาพคล่อง เผย 23 ค่ายลงทุน CLMV ยอดหดถ้วนหน้า

โควิด-19 กระทบทุกอุตสาหกรรมส่งออกของไทยหดตัวจากคู่ค้าลดคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) เลื่อนการส่งมอบ หรือยกเลิกออร์เดอร์ เห็นได้ชัดในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์)ที่เวลานี้การส่งออกยังอยู่ในแดนลบ โรงงานในอุตสาหกรรมรวมกว่า 3,200 โรงทยอยปิดกิจการชั่วคราว หรือไม่ก็ปรับลดการผลิต ลดคนงานลงเพื่อรักษาชีวิตรอด หวังวิกฤติจะคลี่คลาย และกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติอีกครั้งในเร็ววัน ซึ่งสถานการณ์นี้สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและการ์เมนต์ไทยที่ไปลงทุนในต่างแดนก็มีสภาพไม่ต่างกัน

 

นายประสพ  จิรวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไนซ์กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่สุดของประเทศให้กับแบรนด์ดังของโลก (เช่นไนกี้ อาดิดาส) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทุกอุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในส่วนของไนซ์กรุ๊ปที่มีฐานการผลิตใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และจีน คนงานและพนักงานรวมกว่า 26,000 คน ก็ได้รับผลกระทบจากคู่ค้าชะลอออร์เดอร์ ที่ออร์เดอร์แล้วก็มียกเลิกไปบ้าง เนื่องจากคู่ค้าก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เช่นกัน

 

ล่าสุดบริษัทได้ปรับแผนงานเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ โดย 1.จะลดเวลาการทำงานลงจาก 6 วัน เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ในทุกโรงงานทั้งในและต่างประเทศ (ยกเว้นโรงงานที่เมืองชิงเต่าของจีนที่หยุดมานานหลังมีเหตุการณ์โควิดจะเริ่มผลิตตามปกติ) เริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้ 2.ไม่มีการทำงานล่วงเวลา(โอที) 3.การสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า ซัพพลายเออร์วัตถุดิบ และคนงานให้รับรู้ถึงสถานการณ์ และ 4.การชะลอขยายโครงการในเฟสที่ 2 ในเวียดนามที่มีแผนจะแล้วเสร็จกลางปีนี้

“เราจะปรับลดเวลาการทำงาน แต่ไม่ได้ลดคนงานลง เราต้องการรักษาคนงานเอาไว้ให้มากที่สุด เพื่อรอคู่ค้ากลับมาเจรจาในการวางแผนธุรกิจร่วมกันใหม่ จะเร็วแค่ไหนยังคาดเดาได้ยาก แต่หวังสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน ซึ่งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นอย่างชัดเจน เราจะปรับตัว และเพิ่มการผลิตได้เร็ว อย่างไรก็ดีผลกระทบจากโควิด-19 คาดปีนี้ยอดขายปี 2563 ของกลุ่มที่วางไว้จะขยายตัว 15% จากปี 2562 มียอดขาย 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คาดทั้งปีนี้จะลดลงประมาณ 30% จากยอดขายปีที่แล้ว”

 

นายสุกิจ  คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการฮงเส็งกรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ เผยว่า ทางกลุ่มจะทยอยลดกำลังการผลิตของโรงงานในเครือ ทั้งในไทย เวียดนาม และกัมพูชาลงเฉลี่ย 30% เริ่มเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะลดเวลาทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ แต่จะพยายามรักษาคนงานไว้ให้มากที่สุด จากปัจจุบันทั้งเครือทั้งในและต่างประเทศมีคนงาน 8,000-9,000 คน ระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าคู่ค้าจะกลับมาเมื่อใดนี้ บริษัทได้ปรับไลน์หันไปผลิตชุด PPE และหน้ากากอนามัยชนิดผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อเสริมรายได้

 

ด้านนายชวลิต  นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอเรียนตอล การ์เมนท์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้กับแบรนด์ชั้นนำ เผยว่า บริษัทได้รับผลกระทบเช่นกัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ให้คนงานใช้สิทธิลาพักร้อนให้หยุดเสาร์-อาทิตย์เพื่อลดเวลาทำงานทั้งโรงงานในไทยและที่เวียดนามซึ่งมีคนงานรวมกว่าพันคน แต่ในเดือนพฤษภาคมนี้จะ
เริ่มทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ตามเดิม จากมีคำสั่งซื้อชุด PPE จากลูกค้าในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ทั้งปีนี้ยังลุ้นยอดขายเป็นบวกจากปีที่แล้วมียอดขายราว 650 ล้านบาท

 

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มเผยว่า  ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตและส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว 23 บริษัท โรงงานรวม 40 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา  เวียดนาม) และอินโดนีเซียบางส่วน ซึ่งเวลานี้ต่างได้รับผลกระทบโควิด-19 ยอดขายลดลงถ้วนหน้า

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563