เจาะภูเขาทะลวง 4 อุโมงค์ พร้อมสะพานทอดรับรถไฟทางคู่ สายเหนือ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ยาวสุดในไทย 13.4 กม. “ ม.พะเยา-ดอยหลวง” วิวสวยสุดอลังการ แลนด์มาร์ก ท่องเที่ยวใหม่ทางราง เทียบชั้นสิบสองปันนา จีนตอนใต้
นอกจากรถไฟทางคู่สายเหนือ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” จะสนับสนุนการขนส่งสินค้า เชื่อมโยง สปป.ลาว-เมียนมา และจีนตอนใต้แล้ว อนาคตยังเป็นแลนด์มาร์กใหม่ทางราง ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ เข้าใช้บริการ สร้างรายได้ให้กับประเทศ หากก่อสร้างแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามแม้มีความล่าช้าแต่ความคืบหน้าล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนลงสำรวจพื้นที่เวนคืน ภายในปีนี้พร้อมเปิดประมูลได้ราวต้นปีหน้า
ด้วยระยะทางที่มีความยาว 323.1 กิโลเมตร ตัดผ่าน 4 จังหวัดภาคเหนือ เริ่มจากสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งหน้าขึ้นเหนือ ไปยังจังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา เข้าเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จากนั้นแยกเส้นทางไปยังท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน โดยมีจุดหมายปลายทาง บริเวณด่านพรมแดนสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย - สปป.ลาว ที่ อำเภอเชียงของ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพะเยาและเชียงราย ภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงชัน บางช่วงมี เหวลึก และเป็นเขตอุทยานมีสัตว์ป่าอยู่อาศัยชุกชุม รฟท. จึงศึกษารูปแบบให้รถไฟวิ่งทะลุภูเขาลอดใต้ผืนป่าอุทยาน ด้วยการเจาะอุโมงค์ 4 แห่ง รวมระยะทาง 13.4 กิโลเมตร ซึ่งถือได้ว่า รถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นเส้นทางที่มีอุโมงค์ยาวที่สุดในประเทศ ประกอบด้วย อุโมงค์อำเภอสอง แห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 จังหวัดแพร่ ระยะทางรวม 7.5 กิโลเมตร สำหรับที่เป็นไฮไลต์ได้แก่ อุโมงค์มหาวิทยาลัยพะเยา และอุโมงค์ดอยหลวง เชียงราย ที่ว่ากันว่าวิวตลอดเส้นทางสวยงาม เนื่องจากพื้นที่โดยรอบเป็นเขาสูงป่าที่มีความเขียวชอุ่ม อลังการไม่ต่างจากสิบสองปันนา จีนตอนใต้
นายบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย รองประธานและเลขาธิการ สมาพันธ์ SME ไทยภาคเหนือ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง นอกจากช่วยสนับสนุนการขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้แล้ว ยังเป็นเส้นทางขนส่งการเดินทางผู้โดยสาร และมองว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เดินทางเข้ามายังจังหวัดแพร่มากขึ้น เพื่อเดินทางต่อไปยัง จังหวัดเชียงราย และอำเภอเชียงของ ข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับจุดเด่นที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวสำหรับรถไฟทางคู่เส้นทางนี้หากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเป็นลักษณะนั่งรถไฟชมวิวแบบพาโนรามา 2 ข้างทางด้วยชัยภูมิทางภาคเหนือ จังหวัดพะเยา ที่มีเขตติดต่อ กับเชียงรายพื้นที่รายล้อมไปด้วยภูเขาสูง มีความเขียวของป่า ทำให้เป็นจุดสนใจคนที่ชอบนั่งรถไฟท่องเที่ยวแบบสัมผัสธรรมชาติ ไฮไลต์ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีการเจาะภูเขาทำเป็นอุโมงค์ ให้รถไฟลอดผ่าน ที่ระดับความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น หากหลับตาจินตนาการ เมื่อลอดผ่านอุโมงค์แล้ว และทันทีที่ออกจากอุโมงค์ จะมีสะพานทอดยาวรับขบวนรถไฟให้ข้ามผ่านเหวลึก วิ่งต่อไปยังทางเบื้องหน้า ขณะรอบข้างเป็นวิวป่าเขา ท้องฟ้า เดินทางช่วงหน้าหนาวจะได้สัมผัสอุ่นไอทะเลหมอกกันบนรถไฟเลยทีเดียว สำหรับอุโมงค์ และสะพานที่เป็นไฮไลต์สุดอลังการมากที่สุด เสมือนเดินทางท่องไปยังดินแดนเทพนิยาย ไม่ต่างกับเมืองสิบสองปันนา จีนตอนใต้ ได้แก่อุโมงค์ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมีรอยต่อระหว่างอำเภองาว จังหวัดลำปาง ผ่านเข้าท้องที่จังหวัดพะเยา นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวิวแบบพาโนรามาของเมือง และพื้นที่กว้างกว่า 6,000 ไร่ภายในมหาวิทยาลัยพะเยา ตามด้วยอุโมงค์ดอยหลวง ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ตั้งอยู่ในอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวโดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากทิวเขาหลวงพระบาง 1,043 เมตร เป็นเส้นทางที่ผ่านไปยังอำเภอเชียงของ เชียงแสน และพรมแดน สปป.ลาว และเมียนมา ขึ้นชื่อมากด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากตลอดเส้นทางมีความสูงให้ท้าทาย ที่สำคัญอำเภอดอยหลวง กำลังพัฒนาทางด้านคมนาคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านผังเมือง ที่กำลังจะเป็นเมืองขยายในอนาคต
นายบุญชู กล่าวว่ารถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นเส้นทางสายไหม เมืองไทยที่ขนส่งสินค้า และยังเป็นรถไฟขบวนเดินทางท่องเที่ยวอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งใน 5-6 ปี ข้างหน้า
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,577 วันที่ 24-27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563