จากกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งได้ให้เงินช่วยเหลือ เยียวยา รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2563 นั้น
วันนี้ (26 พ.ค.256) ความคืบหน้าล่าสุดนายพัชราวุธ แสงวันลอย ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส.จังหวัดยะลา ระบุว่าสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดยะลา ได้มีการจ่ายเงินตามโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ล่าสุดถึงเดือนพฤษภาคมขณะนี้ได้โอนเงินเยียวยา ไปแล้วจำนวน 4 ครั้งให้แก่ เกษตรกร จำนวน 49,810 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 249.7 ล้านบาท
โดยรอบที่ 1 จำนวน 32,855 ราย
รอบที่ 2 จำนวน 1,375 ราย
รอบที่ 3 จำนวน 10,367 ราย
และรอบที่ 4 จำนวน 5,213 ราย
ตอนนี้จะเข้าบัญชีของ เกษตรกร ในทุกสาขาของจังหวัดยะลา ซึ่ง เกษตรกร สามารถที่จะทำการถอนเงินได้ และสำหรับเกษตรกรที่มีบัตร ATM อยู่แล้ว ก็สามารถใช้บริการผ่านตู้ ATM ทุกสาขาของ ธ.ก.ส.ได้เลย รวมถึงธนาคารอื่นด้วย โดยทาง ธ.ก.ส.ได้มีการเตรียมเงินไว้สำหรับตู้ ATM ไม่ให้ขาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธ.ก.ส.โอนอีก 2 ล้านราย ภายใน 28 พ.ค.นี้
ตรวจสอบสิทธิ์ www.เยียวยาเกษตรกร.com เช็กสถานะ แบบไหนได้เงิน
สำหรับกรณีรับเรื่องร้องทุกข์ของ ธ.ก.ส.ยะลา ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส.จังหวัดยะลา กล่าวว่า เป็นห่วง เกษตรกร จะได้รับเงินไม่ทั่วถึง ทางธนาคารก็มีการรับเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งสามารถจะมายื่นเรื่องได้ที่ ธกส.ได้ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องเกษตรกรนั้น มีทั้งปัญหาของโครงการเราไม่ทิ้งกัน ของรัฐบาล และปัญหาของการเยียวยาเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 2,193 ราย ซึ่งเรื่องราวร้องทุกข์ทางรัฐบาลจะให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ดังนั้นประชาชนหรือเกษตรกร ท่านใดที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือก็ให้เข้ามายื่นเรื่องร้องทุกข์ได้
ส่วนมาตรการการป้องกันโควิด-19นั้น ทาง ธ.ก.ส.ยะลา มีคณะกรรมการ ป้องกันโรคโคลวิด-19 และมีการประชุมทุกสัปดาห์เกี่ยวกับการป้องกันตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข และการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงเป็นมติออกมาว่าในแต่ละสาขา จะให้มีการจัดทำทะเบียนจองคิวล่วงหน้าแก่ประชาชน คือ แต่ละวันเราก็จะจำกัดคิวในแต่ละสาขา ช่วงเช้า-บ่าย ช่วงละ 100 ราย ไว้อย่างชัดเจน มีที่นั่งเว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิและล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ดังนั้นประชาชนจะทราบว่าตัวเองจะต้องมาวันไหนและลำดับคิวเมื่อไหร่ โดยไม่ต้องมาแออัดเบียดเสียด นอกจากนี้ก็ยังได้มีการประชาสัมพันธ์ยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในแต่ละตำบลที่มีผู้ที่รับเงินเยียวยา เพื่อให้ทางสาขานัดหมายแต่ละอำเภอและตำบล มาดำเนินการตามช่วงเวลาที่ระบุ
ที่มา:เฟสบุ๊คชายแดนใต้