รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ MOC ก่อสร้างโครงการ รถไฟความเร็วสูง สายอีสาน ( ไฮสปีด) ไทย-จีนสายแรก กรุงเทพ –หนองคาย ระยะทางรวม กว่า 600 กม. มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทยรฟท.ตั้งแต่ ตั้งแต่วันที่19 ธันวาคม 2557 และลงมือ ก่อสร้างระยะแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา ปลายปี 2560 แบ่งสัญญาก่อสร้างงานโยธาออกเป็น14สัญญา โดย ช่วงแรกสัญญาที่1 กรมทางหลวงก่อสร้าง ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5กิโลเมตร มีเป้าหมาย1ปีก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ปัจจุบัน มีความคืบหน้าเพียง75% ส่วนที่เหลือ ทะยอยเปิดให้เอกชนประมูล โดยช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร วงเงิน 3,350.47 บมจ.ซีวิล เอนจิเนียริ่ง คว้างานต่ำกว่าราคากลาง 7% ล่าสุด อยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภค เฉือนชนะยักษ์ใหญ่ บมจ.อิตาเลียนไทยแบบฉิวเฉียด
เหลืออีก 12สัญญา ในจำนวนนี้ มี 7 สัญญา รอลงนามในสัญญา หลังผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(บอร์ดรฟท.) อีก 3สัญญารอเข้าบอร์ดรฟท. เห็นชอบ ส่วนอีก 1สัญญาก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย (เดโป้) อยู่ระหว่างรอเปิดซองราคา แต่ วงในระบุว่า บมจ.อิตาเลียนไทยชนะประมูล ขณะสัญญาสุดท้ายที่ 14 บางชื่อไป ดอนเมือง ยังไม่เปิดประมูลต้องรอหารือกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม3สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา) เกี่ยวกับพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อน
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้าง ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ติดปัญหา การปรับแบบใหม่เกือบตลอดแนว ส่งผลให้ต้องยื่นทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอเพิ่มเติมคาดว่า เดือนมิถุนายนอีไอเอน่าจะได้รับการอนุมัติ หลังจากนั้น ผู้รับเหมาทั้ง7สัญญา สามารถลงพื้นที่ก่อสร้างได้ทันที อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เกิดความล่าช้า คาดว่า สามารถเปิดให้บริการได้ ราวปี2567 จากแผนเดิม ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี2566
แหล่งข่าวจากรฟท. ยอมรับว่า การก่อสร้าง มีความล่าช้าไปจากแผนกว่า6เดือน เนื่องจาก ติดอุปสรรคต้องแก้ไขปรับแนวก่อสร้างบางจุด จึงเป็นสาเหตุให้ต้องยื่นแก้ไขอีไอเอใหม่ จึงไม่สามารถเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาเพื่อลงมือก่อสร้างได้
สำหรับไฮสปีดไทย-จีน ระยะแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท
ที่รอเซ็นสัญญา อาทิ สัญญาช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด บริษัท สหการวิศวกร จำกัด และบริษัท ทิพากร จำกัด เสนอราคา 8,626 ล้านบาท ,สัญญาช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นผู้เสนอราคา 11,525 ล้านบาท สัญญาช่วงพระแก้ว-สระบุรี 31.60 บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เสนอราคา 9,429 ล้านบาท,สัญญางานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เสนอราคา 4,279.328 ล้านบาท
สัญญาช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง เสนอราคา 8,560 ล้านบาท,สัญญาช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า 30.21 กม. บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง เสนอราคา 9,330 ล้านบาท,สัญญาช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด 37.45 กม. บจ.บีพีเอ็นพี (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) เสนอราคา 9,788 ล้านบาท
อยู่ระหว่างรอบอร์ดอนุมัติ 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาช่วงบันไดม้า-โคกกรวด ระยะทาง 26.1 กม. รวมงานก่อสร้างสถานีปากช่องของบริษัท กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคา 9,838 ล้านบาท สัญญางานโยธาช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ วงเงิน 9,913 ล้านบาท และสัญญาช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 13.69 กม. รวมงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา ของกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK วงเงิน 7,750 ล้านบาทและสัญญางานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,093.037 ล้านบาท บมจ.อิตาเลียนไทย
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,579 วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563