ส.พัฒนาอุตฯสิ่งทอของบ 40 ล.จาก "พ.ร.ก." 1 ล้านล.สร้างตลาดทางการแพทย์

05 มิ.ย. 2563 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2563 | 09:15 น.

“สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ” ของบ 40 ล้านจาก “พ.ร.ก.” 1 ล้านล้านสร้างตลาดทางการแพทย์ ผ่าน "กระทรวงอุตสาหกรรม" ถึง “สศช.” ชี้ป็นทิศทางตลาดใหม่ให้ผู้ประกอบการ

“สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ” ได้ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ของอุตสาหกรรมฯ พบว่า หลังจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว  และมุ่งเน้นเข้าสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ ,สุขภาพ และการปกป้องตนเองของผู้สวมใส่  เพราะการแพร่ระบาดของไวรัส "โควิด-19" (Covid-19) ได้ส่งผลทำให้ยอดคำสั่งซื้อจากการส่งออกหายไปเกือบ 50% ในเดือนเมษายน 63  ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องหาวิถีใหม่ในการทำธุรกิจ

              ผลิตภัณฑ์ "ชุด PPE" เป็นหนึ่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ  เพราะมีความต้องการของตลาด  อีกทั้งยังไม่ใช่เฉพาะตลาดทางการแพทย์เท่านั้นที่สามารถใช้ได้  แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มของสปา ,คนเก็บขยะ และแอร์โฮสเตท เป็นต้น  โดยประเทศไทยมีวัตถุดิบทั้งผ้ากันน้ำ ผ้ากันเลือด  ซึ่งสามารถนำมาตัดเย็บให้ได้มาตรฐานสากล  เพื่อทำตลาด            

              นายชาญชัย  สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการ  สถาบันฯ เปิดเผยว่า สถาบันฯกำลังดำเนินการของบประมาณ 40 ล้านบาท ผ่านทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ “สมอ.” กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทรวงฯจะยื่นขอจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ 

ส.พัฒนาอุตฯสิ่งทอของบ 40 ล.จาก \"พ.ร.ก.\" 1 ล้านล.สร้างตลาดทางการแพทย์

              ทั้งนี้  งบประมาณดังกล่าวสถาบันฯจะนำมาซื้อเครื่องทดสอบสิ่งทอทางการแพทย์  ซึ่งคาดว่าจะได้ประมาณ 20 เครื่อง มูลค่าเครื่องละ 5 ล้านบาท  เพื่อให้สามารถทดสอบได้เองภายในประเทศ  ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการได้มากกว่า 50%  และใช้เวลาไม่นานในการได้ใบรับรองผลทางการแพทย์  จากเดิมที่สถาบันฯจะต้องเป็นสื่อกลางในการนำผ้าไปทดสอบที่ต่างประเทศ  โดยมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง  และต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนในการทดสอบ

“รัฐต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยอะไรที่เป็นของส่วนกลางหากให้เอกชนเป้นผู้ลงทุนก็คงจะไม่ไหว เพราะฉะนั้น  รัฐต้องเป็นผู้ลงทุนทางด้านเครื่องมือ  ส่วนสถาบันฯก็จะเป็นผู้ดำเนินการโดยที่ไม่ได้หวังผลกำไร เน้นให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยราคาที่ไม่สูงจนเกินไป  ที่สำคัญคือช่วงเวลาในการทดสอบต้องสั้น  เพราะการเข้าตลาดจะต้องเร็ว  จะมัวรอผลทดสอบ 2-3 เดือนไม่ได้”

              ขณะที่ขั้นตอนในลำดับถัดไปก็คือการส่งเสริมทางด้านการค้า  โดยรัฐฯเองก็จะต้องเข้ามาช่วยซื้อ  ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมตลาดในประเทศ (Domestic market) เพราะภาครัฐมีงบประมาณค่อนข้างมาก  หากไม่ต้องใช้ไปกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์  แล้วมุ่งมาส่งเสริมผู้ประกอบาการไทยก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก  เรียกว่าเป็นการช่วยกันเองในประเทศ