คนร.ไฟเขียวแผนฟื้นฟู'ขสมก.'

08 มิ.ย. 2563 | 07:08 น.

คนร.ไฟเขียวแผนฟื้นฟู'ขสมก.' หวังเพิ่มประสิทธิภาพ ลดภาระหนี้รัฐ  นายกฯสั่งยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

 

 

วันนี้ (8 มิ.ย. 63 ) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2563   โดยที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  โดยได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณารายละเอียด เพื่อให้สามารถเดินแผนฟื้นฟูให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและทำให้ ขสมก. สามารถฟื้นกลับมามีกำไรและเป็นองค์กรที่น่าภาคภูมิใจได้สำเร็จ โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

สำหรับหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.  โดยมีกรอบการดำเนินการ ครอบคลุมทั้งการจัดหารถโดยสารปรับอากาศ ปรับรูปแบบให้เป็นสินทรัพย์เอกชน ลดภาพต้นทุนในการดูแล มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้  ปรับปรุงเส้นทางเดินรถไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน  เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า เรือ เป็นต้น มีการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจโดยดึงภาคเอกชนร่วมลงทุน  เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของผู้ใช้บริการ  ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์คาดหวังว่า ในระยะยาวรัฐบาลจะไม่ต้องรับภาระหนี้ของ ขสมก.  ลดปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ  ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนและประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น  ขณะเดียวกัน ขสมก. สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน  องค์การสามารถเลี้ยงของตนเองได้  พนักงานมีความภาคภูมิใจในหน่วยงานและเป็นองค์กรที่ยั่งยืน  ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแผนฟื้นฟูและการบริหารจัดการหนี้อย่างละเอียด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

 

 

 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงแนวทางของรัฐบาลในการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. โดยให้ยึดหลักการสำคัญ ได้แก่ มองประชาชนเป็นหลัก ลดภาระและสร้างเพิ่มความพึงพอใจในการใช้บริการ  สามารถบริหารจัดการภาระหนี้สินได้โดยไม่กระทบหลักการงบประมาณ   องค์การมีความสามารถในการชำระหนี้  เพิ่มความคล่องในการการจราจร  เชื่อมโยงระบบคมนาคมทั้ง รถ ราง เรือ   สร้างความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนมากยิ่งขึ้น   รวมทั้งเพิ่มเติมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ภายในประเทศ เช่น การต่อรถ เป็นต้น ที่สำคัญต้องไม่ลืมดูแลลูกจ้าง พนักงาน  และท้ายที่สุด สินทรัพย์ที่มีมูลค่าจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีภายใต้ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน  

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุมถึงแนวทางทั้งหมดนี้ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพขององค์กรและบุคลากร ความเป็นมืออาชีพ เพราะทุกการดำเนินการจะย้อนกลับไปสู่ประชาชน ที่จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน