นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ถึงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก.ขณะนี้ที่ประชุมมีมติรับทราบหลักการปรับปรุงแผนฟื้นฟูดังกล่าว เบื้องต้นให้ขสมก. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง กลับไปจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขให้ชัดเจน ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน มิ.ย.63 ทั้งนี้จะเปิดหารถโดยสารปรับอากาศ EV จำนวน 2,511 คัน และมีแผนให้เอกชนร่วมลงทุนในการเช่าจ้างเดินรถ จำนวน 1,500 คัน แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งระบบ หากครม. เห็นชอบจะเริ่มดำเนินจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) เพื่อจัดหารถโดยสารประจำทางใหม่ ในรูปแบบเช่าจ้างวิ่งตามระยะทาง ทั้งนี้เอกชนรายใดเสนอราคาต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล และได้สิทธิสัมปทานเดินรถ 7 ปี โดยขสมก.จะให้ผลตอบแทนจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตรที่ให้บริการ ภายในเดือน ก.ค.63 ก่อนลงนามสัญญาในเดือน ก.ย.63 โดยจะเปิดเดินรถครบทั้งระบบ ภายในเดือน ก.ย.65
อ่านข่าว จ่อชง ครม. หนุนแผนฟื้นฟู ขสมก. คาด ก.ค.นี้
อ่านข่าว รฟท.-ขสมก. ลุยเข้าแผนฟื้นฟูฯ
“สำหรับการประมูลดังกล่าว หากครบกำหนด 7 ปี จะมีการเปิดประมูลใหม่ โดยเอกชนต้องบริการพร้อมทุกอย่าง ทั้งคนขับ อุปกรณ์การเก็บเงิน รวมถึงเทคโนโลยีที่คำนวณการให้บริการ โดยจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง เบื้องต้นเป็นแอปฯ ที่สามารถระบุพื้นที่ภายในรถโดยสารประจำทาง และการบริการภายในรถว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันพบว่ามีผู้ใช้บริการรถขสมก.ก่อนสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 2 ล้านคนต่อวัน หากในอนาคตมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น จะใช้หลักการนี้เพิ่มจำนวนรถต่อไป ส่วนรูปแบบการจ้างเช่าวิ่งตามระยะทาง จะช่วยให้ ขสมก. ไม่ต้องแบกรับค่าซ่อม ค่าเสื่อมสภาพของรถโดยสาร”
สำหรับเป้าหมายปรับปรุงแผนฟื้นฟูขสมก. ประกอบด้วย 1.การลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน ไม่จำกัดเที่ยว และการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง 4 รูปแบบ บัตรเติมเงินปกติ 30 บาทต่อคนต่อวัน บัตรผู้สูงอายุ 15 บาทต่อคนต่อวัน (ลด 50%) บัตรรายเที่ยว 15 บาทต่อเที่ยว บัตรรายเดือน สำหรับนักเรียนและนักศึกษา 630 บาทต่อเดือน (21 บาทต่อวัน) บุคคลทั่วไป 720 บาท ต่อเดือน (24 บาทต่อวัน) 2.การบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งใช้เส้นทางเดินรถที่ไม่ทับซ้อนกัน จำนวน 108 เส้นทาง ของ ขสมก. และ จำนวน 54 เส้นทาง ของเอกชน รวมถึงการใช้บัสเลน เพื่อจัดช่องทางการเดินรถเฉพาะรถโดยสารประจำทาง และกำหนดเส้นทางที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพตั้งแต่ 6 ช่องจราจร ขึ้นไป โดยมีความถี่ในการปล่อยรถเฉลี่ย 5-10 นาทีต่อเที่ยว
3.ลดมลภาวะและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย เบื้องต้นจะใช้รถ NGV และ รถ EV ที่ประกอบในไทยมีสัดส่วนของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ในไทยไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ในไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นรถชานต่ำที่เป็น Universal Design และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.แก้ปัญหาการขาดทุนของ ขสมก.โดยกำไรจากผลดำเนินงาน (EBIDA) เป็นบวกในปี 2572 และไม่ขาดทุน ทั้งนี้จะลดกำลังคนโดยใช้โครงการเกษียณก่อนกำหนด จำนวน 5,301 คน วงเงิน 4,560 ล้านบาท 5.ไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐ โดยขสมก.จะขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ (PSO) ระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2571 วงเงิน 9,674 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนของพนักงาน 8,083.153 ล้านบาท ค่าเชื้อเพลิงและค่าซ่อมของรถ NGV จำนวน 489 คัน จำนวน 1,279.842 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค 311.005 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2572 จะมีผลดำเนินงานเพียงพอกับรายจ่าย ทำให้กำไรจากผลดำเนินงาน (EBIDA) ไม่ติดลบ ซึ่ง ขสมก.สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระต่อภาครัฐในอนาคต
ทั้งนี้แผนฟื้นฟูขสมก.จะทำให้รัฐต้องแบกรับภาระหนี้สินทั้งหมดของ ขสมก. เพิ่มขึ้น จำนวน 127,786.109 ล้านบาท จากเดิม ที่มีมูลหนี้ จำนวน 118,183.234 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ขสมก.ขาดทุนสะสมทุกเดือน เฉลี่ย 360 ล้านบาทต่อเดือน