"คมนาคม" ชง สภาพัฒน์ เคาะเยียวยาโควิด 6.6 พันล.

03 ก.ค. 2563 | 13:18 น.

“คมนาคม” จ่อเสนอ สภาพัฒน์ ไฟเขียวมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ด้านขบ.ขอตรึงราคาน้ำมัน NGV ถึงสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ทล.เสนอเยียวยาผู้ประกอบการบำรุงทาง-จ้างที่ปรึกษา

นายพีระพล  ถาวรสุภเจริญ  รองปลัดกระทรวงคมนาคม  ในฐานะประธานการประชุมพิจารณาข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ของภาคคมนาคมขนส่ง ครั้งที่ 3/2563 เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อเสนอมาตรการดังกล่าวของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่เสนอขอรับจัดสรรเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 วงเงินที่เสนอขอรับจัดสรรเงินกู้รวมทั้งสิ้น 6,612.324 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) 4,773 ล้านบาท  องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) 614 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) 550 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 657 ล้านบาท กรมเจ้าท่ า 1,866 ล้านบาท และโรงแรงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด 13 ล้านบาท  ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางกระทรวงการคลังเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

 

 

ขณะเดียวกันที่ประชุมรับทราบถึงมาตรการที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ ที่จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกและผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) และไม่เข้าข่ายลักษณะแผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ  เช่น  มาตรการด้านพลังงาน โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เสนอให้ตรึงราคาเชื้อเพลิง NGV และน้ำมันดีเซล ถึง 31 .. นี้  หลังจากนั้นปล่อยลอยตัว ให้อยู่ในราคาที่  75%ของน้ำมันบี 10 รวมถึงให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีบัตรส่วนลดพลังงานของบริษัท ปตท.จำกัด มหาชน สามารถลงทะเบียนเพื่อซื้อ NGV ได้ในราคาที่ต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไปได้ 

ทั้งนี้กรมทางหลวง (ทล.) เสนอขอให้พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการก่อสร้างบำรุงรักษาทางและงานจ้างที่ปรึกษา โดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เรื่องการขยายเวลาดำเนินการตามสัญญา และการงดค่าปรับ โดยกรมบัญชีกลางจะออกประกาศให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้  รวมถึงการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับผู้ประกอบการขนส่งภาคเอกชนนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง  คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตามที่ประชุมจะสรุปมาตรการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกให้ชัดเจนในการประชุมครั้งต่อไป